นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประกอบด้วย โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ กว่า 50 แห่ง ได้หารือถึงการใช้ยาพาราเซตามอลโดยที่ประชุมเห็นว่า ประเทศไทยมีการขายยาพาราฯ หลายขนาด โดยเฉพาะขนาด 650 มิลลิกรัม ทำให้มีความเสี่ยงได้รับยาเกินขนาดและเป็นพิษต่อตับ เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานการรับยาพาราฯ ไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนไทยชอบกินยาพาราฯ ครั้งละ 2 เม็ด ซึ่งหากเป็นพาราฯขนาด 650 มิลลิกรัม กิน 2 เม็ด ก็จะได้รับยาเกินขนาด

179120

นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่ประชุมเห็นว่าให้เริ่มส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่โรงพยาบาลก่อน โดยกำหนดการเขียนรายงานการสั่งยาของแพทย์ให้จ่ายยาพาราฯ แก่ผู้ป่วยหญิงจำนวน 1 เม็ด รับประทานทุก 6 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยชายให้พิจารณาเป็นรายบุคคล จากเดิมที่เขียนสั่งจ่ายยาพาราฯ ให้ผู้ป่วย 2 เม็ดรับประทานทุก 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้เขียนกำกับบนฉลากยาด้วยว่าห้ามใช้ยาพาราฯ เกิน 8 เม็ดต่อวัน เพราะเป็นพิษต่อตับ

“หลังจากสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลเป็นต้นแบบแล้ว จะเสนอสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ให้บรรจุการใช้ยาสมเหตุผลเป็นหนึ่งหลักเกณฑ์ประเมินคุณภาพโรงพยาบาลด้วย

โดยวันที่ 15 ต.ค. จะมีการพิจารณาความคืบหน้าเรื่องนี้ และวันที่ 29 ต.ค. จะมีพิธีลงนามความร่วมมือเรื่องการใช้ยาสมเหตุผลในโรงพยาบาล ระหว่าง ผอ.รพ. ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” นพ.พิสนธิ์ กล่าว

นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า หลังจากขับเคลื่อนเรื่องการใช้ยาพาราฯ อย่างสมเหตุผลมาตลอด พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก อย่าง อย. ได้มีการจัดทำเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดและถูกต้อง ด้วยการกำหนดอัตราการใช้ยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว แทนการกำหนดอายุ จัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนให้สามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม เอกสารกำกับยาสำหรับแพทย์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

 

ที่มา : เอเอสทีวี

เรื่องน่าสนใจ