สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ระบุไม่ว่าจมูกแตกหรือจมูกหักจากสาเหตุอะไร ต้องรีบพบแพทย์ด่วนก่อนกระดูกผิดรูป หรืออาจรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อสมอง จากข่าวดังกระฉ่อนโลกโซเซียล คลิปพิธีกรหนุ่มฉุดกระชากคู่กรณี พร้อมประเคนหมัดใส่หน้า จนเป็นเหตุให้ดั้งจมูกหักแตกละเอียด ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า แค่ถูกชกทำให้จมูกหักได้จริงหรือ? และถ้าดั้งจมูกแตกหรือหักจะต้องรักษาอย่างไร?
นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน อธิบายว่า ดั้งจมูกแตกและหักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ล้มฟาดพื้นจากอาการโรคลมชัก เป็นลม วูบ อุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุบัตเหตุจากการเล่นกีฬาแรงๆ เช่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล ชกมวย ฯลฯ รวมไปถึงการชกต่อยทำร้ายร่างกายกัน ซึ่งสาเหตุประการหลังสุดนี้ ทำให้ดั้งจมูกหักได้ทั้งการชกจากด้านข้างสันจมูกและชกตรงๆ เข้าที่ดั้งจมูก
จะรู้ได้อย่างไรว่าดั้งจมูกแตก-หัก
หลังเกิดอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายร่างกายบริเวณใบหน้าแล้ว ถ้ามีเลือดไหลออกจากจมูกหรือรอบพื้นที่ มีอาการบวม หายใจผ่านจมูกได้ลำบาก บริเวณจมูก ใต้ตา และใบหน้าเป็นสีเขียวช้ำ หากมีอาการดังที่กล่าวมาต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะดั้งจมูกหรือกระดูกส่วนต่างๆ บนใบหน้าอาจจะมีอาการแตกหัก หรือบางครั้งอาจจะกระทบต่อสมองได้
“กรณีที่แพทย์ตรวจพบว่าดั้งจมูกแตกหรือหัก ผู้ป่วยต้องให้แพทย์ทำการรักษาภายใน 7 วัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 1 เดือน กระดูกที่บริเวณดั้งจมูกจะต่อเองแบบธรรมชาติ ซึ่งทำให้จมูกเบี้ยว เสียรูปทรง และรักษาหรือแก้ไขได้ยากมาก”
ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแตกหักของจมูก สามารถป้องกันโดยสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือปั่นจักรยาน และควรคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ สำหรับผู้ที่เล่นกีฬาต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงและบรรเทาความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็น
รักษาจมูกแตก-หัก ให้กลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ ?
ภาวะจมูกหักแบ่ง ออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทแรก New Fracture หมายถึงภาวะที่เมื่อจมูกหักแล้ว เข้าพบแพทย์และรับการรักษาทันที ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา และมีโอกาสที่จมูกจะกลับมาคืนรูปสวย จะมีมากกว่าการทิ้งระยะเวลาไว้ โดยไม่ทำการรักษา และอีกประเภทคือ Old Fracture หมายถึงภาวะเมื่อเกิดการแตกหักของจมูกแล้ว แต่ไม่ได้ทำการรักษาโดยปล่อยทิ้งเป็นระยะเวลานาน ผลที่ตามมาคือจะทำให้เกิดจมูกผิดรูป คด บิดเบี้ยว
สำหรับแนวทางการรักษามี 3 แนวทางคือ วิธีที่ 1 กรณีที่ตรวจพบว่า มีกระดูกหักเพียงเล็กน้อย แพทย์จะใช้วิธีการจัดกระดูกที่บริเวณจมูกให้กลับสู่สภาพเดิมโดยไม่ต้องผ่าตัด จากนั้นใส่เฝือกดามไว้เพื่อให้กระดูกที่ถูกจัดเชื่อมติดกันโดยใช้เวลาโดยประมาณ 1 เดือน
วิธีที่ 2 กรณีที่กระดูกแตกหักมาก แพทย์จะใช้การผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Open rhinoplasty คือ การผ่าตัดเปิดจมูกจากบริเวณปลายจมูกขึ้นไป จากนั้นแพทย์จะทำการจัดกระดูกให้เข้ารูปแล้วใช้วิธีการเย็บจากด้านใน เพื่อยึดกระดูกแต่ชิ้นให้เข้าที่จากนั้นปิดแผล และเข้าเฝือกบริเวณจมูกไว้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
วิธีการนี้แพทย์ต้องใช้ยาชาและยาสลบร่วมกันเพื่อลดความเจ็บให้คนป่วย แต่คนไข้ควรรู้สึกตัว และวิธีนี้สามารถใช้ได้ ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องจมูกคด จมูกเบี้ยวตามธรรมขาติได้เช่น ทั้ง 2 วิธีแพทย์ผู้ทำการรักษา คือศัลย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก
ส่วนวิธีที่ 3 ซึ่งจะใช้หลังจากรักษาด้วยวิธีที่ 1 และ 2 แล้วไม่สัมฤทธิ์ผล หรือพบว่ากระดูกจมูกยังไม่คืนรูป ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและส่งผลต่อบุคลิกภาพ ผู้ป่วยสามารถพบศัลย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งใบหน้าได้ เพื่อแก้ไขรูปทรงจมูกให้เป็นปกติและดูเป็นธรรมชาติ