ไลลา ริชาร์ดส์ หนูน้อยผู้ป่วยโรคลูคีเมีย ได้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางเวชพันธุศาสตร์ที่ไม่เคยใช้กับมนุษย์มาก่อน โดยความร่วมมือจากแพทย์กับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งหนึ่งในลอนดอน
พ่อแม่ของ ไลลา ริชาร์ดส์ เคยแทบจะหมดหวังเมื่อแพทย์แจ้งให้ทราบในวันก่อนที่เด็กน้อยจะมีอายุครบหนึ่งขวบว่า ไม่มีหนทางรักษาโรคลูคีเมียที่หนูน้อยเป็นอยู่ และเธอกำลังจะตาย ทางครอบครัวและแพทย์จึงตัดสินใจที่จะร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งหนึ่งทำการทดลองรักษาไลลาด้วยวิธีที่ไม่เคยใช้กับมนุษย์มาก่อน จะมีก็เพียงทดลองกับหนูทดลองเท่านั้น
วิธีทางการแพทย์ดังกล่าวคือ การนำเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือทีเซลล์ ของผู้บริจาคที่มีร่างกายแข็งแรงมาตัดต่อพันธุกรรมในหลากหลายวิธี ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ได้รับผลเสียจากยาต้านมะเร็งที่ใช้รักษา และป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อปกติถูกทำลาย นอกจากนี้แพทย์ยังสร้างภูมิคุ้มกันให้เซลล์ เพื่อให้มันสามารถตรวจจับและฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
เพียงไม่กี่เดือนหลังการรักษาด้วยวิธีนี้ ไลลายังคงมีชีวิตและเป็นเด็กที่มีความสุข สนุกสนานยิ้มหัวเหมือนเด็กคนอื่น ที่สำคัญไม่มีร่องรอยอาการของโรคลูคีเมียหลงเหลืออยู่
แน่นอนว่าผลที่ปรากฏจากการรักษาไลลานำความตื่นเต้นมาสู่วงการแพทย์ แต่ทำให้เกิดคำถามถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการรักษาด้วยวิธีนี้เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาเคยมีการใช้เทคนิคทำนองเดียวกันนี้รักษาโรคมะเร็งหลากหลายชนิด แต่เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell anaemia)
ศ.เอเดรียน ทราเชอร์ แห่ง Great Ormond Street Hospital กล่าวว่า ในอดีตเมื่อ 15-20 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเวชพันธุศาสตร์ยังเป็นของใหม่ แต่ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นวิธีรักษาที่วิวัฒนาการมากขึ้น และดูจะได้ผลจริง ขณะที่ ศ.วาซีม คาซิม ซึ่งร่วมรักษาหนูน้อยไลลาด้วย กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การที่แพทย์สามารถรักษาด้วยการจัดการกับกลุ่มยีนที่ผิดปกติในเซลล์ได้อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้น