แพทย์สภาจ่อประกาศเลิกใช้ซิลิโคนเหลวในการศัลยกรรม

dr.chon

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์  เลขาธิการแพทยสภา และ ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่ง การเสริมสวย และการโฆษณา ของแพทยสภา แถลงว่า คณะกรรมการอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่ง การเสริมสวย และการโฆษณา  จึงมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการแพทยสภา ในวันที่ 12 ก.ย.ประกาศยกเลิกการ ฉีดสาร “ซิลิโคนเหลว” เพื่อการเสริมสวยบนใบหน้า  และส่วนอื่นๆ ของร่างกายอย่างเด็ดขาด โดยจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ดังนั้นจึงขอแจ้งให้บุคลากรแพทย์ได้รับทราบเพื่อปฎิบัติตามต่อไปเพื่อคุ้ม ครองความปลอดภัยให้กับประชาชน และเป็นการสร้างมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้เนื่องจาก ซิลิโคนเหลว เป็นสารตัวหนึ่งที่พบว่า ส่งผลรุนแรงต่อเนื้อเยื่อ ผิวหนัง และเกิดการเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายทำให้ผู้ที่รับการฉีดเกิดความเสียหายทั้งด้านร่างกายอาทิ อักเสบ บวม อวัยวะผิดรูป และเสียชีวิต

ด้าน นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่ง การเสริมสวย และการโฆษณา นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับซิลิโคนเหลวว่า

วงการศัลยกรรมมีการใช้ซิลิโคนมาเป็นระยะเวลานานได้แก่การเสริมหน้าอก การเสริมจมูกและคาง โดยประเภทของซิลิโคนที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้คือ ซิลิโคนแบบแท่ง ซึ่งใช้ในการเสริมจมูกและคาง จนเมื่อมีกระแสความนิยมศัลยกรรมความงามเติบโตมากขึ้น ทำให้มีคนบางกลุ่มนำซิลิโคนแบบแท่งไปดัดแปลง ด้วยการปั่นให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลงจนกลายเป็นของเหลว หรือที่เรียกกันว่า ซิลิโคนเหลว แล้วนำมาใช้ฉีดเพื่อเติมเต็มส่วนต่างๆ ในร่างกายแทนการศัลยกรรมด้วยวิธีการผ่าตัด เพราะราคาไม่แพง ทำได้ง่าย ไม่แจ็บ ไม่เป็นแผลและระยะแรกที่ฉีดเข้าไปจะดูสวยงาม เต่งตึงแต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผลจากสารซิลิโคนเหลวที่ฉีดเข้าไป แต่เป็นอาการบวมของผิวหนัง

ส่วนอวัยวะที่นิยมฉีดสารดังกล่าวมีตั้งแต่ จมูก หน้าผาก โหนกแก้ม คาง หน้าอก สะโพกและเจ้าโลก ถ้ายังจำกันได้เมื่อหลายปีก่อนมีกรณีชาวต่างชาติเสียชีวิตขณะทำศัลยกรรม เพิ่มเจ้าโลกที่เป็นข่าวครึกโครม โดยสารที่ฉีดเพิ่มขนาดเจ้าโลกส่วนใหญ่คือ ซิลิโคนเหลว ซึ่งกรณีดังกล่าวคาดว่าขณะฉีดสารเข้าร่างกายอาจเกิดอุบัติการณ์ขึ้น (Incident) โดยมีชิ้นส่วนเล็กๆ ชิลิโคนที่ลอยเข้าไปในกระแสเลือดทางเส้นเลือดดำอาจหลุดเข้าไปสู่หัวใจ ปอดและสมอง เรียกว่าภาวะ Embolism ส่งผลให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตลง หรืออย่างในกรณีที่หมอเถื่อนใช้ซิลิโคนเหลวฉีดที่บริเวณคาง แก้ม เพื่อให้ดูเปล่งปลั่งเป็นธรรมชาติ แต่อ้างว่าเป็นคอลลาเจนหรือโบท็อก ก็ทำให้เกิดปัญหารูปหน้าบิดเบี้ยว

ทั้งนี้สารซิลิโคนเหลวที่ฉีดเข้าไปจะทำลายเนื้อเยื่อ และเซลล์ใต้ผิวหนังประมาณ 3 – 5 ปีจะเริ่มเห็นผลคืออวัยวะเริ่มผิดรูป เพราะเนื้อเยื่อและเซลล์ถูกทำลายจึงเกิดอาการบวมและอักเสบ รวมทั้งสารซิลิโคนเหลวจะค่อย ๆ ไหลมากองรวมกัน ทำให้มีการห้อยย้อย แข็งตึง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผิวหนังบริเวณที่ฉีด
ด้านการรักษา สามารถทำได้ยากมากเพราะเนื้อเยื่อและเซลล์ใต้ผิวหนังเกิดความเสียหายอย่าง มาก ที่พอทำได้คือรักษาอาการอักเสบ จากนั้นใช้วิธีการขูดเนื้อเยื่อและเซลล์ที่ตายออกเพื่อให้เซลล์เกิดการสร้าง ขึ้นใหม่ ใช้เวลาในการรักษานานและไม่สามารถกลับไปมีสภาพเหมือนเดิมได้

“ที่ผ่านมามีผู้เสียหายเข้ามาปรึกษาและขอให้ช่วยรักษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอเสนอให้มีการยกเลิกการฉีดสารซิลิโคนเหลว เพื่อการเสริมสวยบนใบหน้า  และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย”นพ.ชลธิศกล่าว

 

ขอบคุณ posttoday.com

 

เรื่องน่าสนใจ