ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

นายสัตวแพทย์ปรีชา พวงคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก เปิดเผยถึงผลการตรวจเลือดช้างน้อยพลายทองดี อายุ 2 ปี ช้างท่องเที่ยวจาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ว่าหลังส่งผลเลือดของช้างเชือกนี้ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะนี้ผลตรวจเลือดยืนยันออกมาแล้วว่า ช้างน้อยเชือกนี้ป่วยเนื่องจากติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์

14423959521442395975l

ไวรัส หรือเชื้อ EEHV (Elephant Endotheliotropic Herpes Virus:EEHV) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มักเกิดการติดเชื้อในช้างน้อย ทั้งเพศผู้และเพศเมีย เชื้อไวรัสดังกล่าวนั้นหากเทียบกับคนก็คืออาการป่วยเป็นเริม

จนถึงขณะนี้อาการของช้างน้อยเชือกนี้ดีขึ้น กินน้ำและอาหารได้ดี จากที่มาตอนแรกเสี่ยงเสียชีวิตลงอย่างมาก เพราะช้างได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือด จนไม่ยอมกินน้ำและอาหาร พร้อมทั้งมีอาการเซื่องซึม แต่ตอนนี้ช้างน้อยอารมณ์ดี ขี้เล่นตามประสาวัยเด็กของช้าง

แต่ทางคณะสัตวแพทย์ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตรวจเชื้อในกระแสเลือดเป็นระยะ และยังไม่พ้นขีดอันตราย เนื่องจากเป็นช้างเล็ก ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ ซึ่งจะต้องดูการติดเชื้อ พร้อมกับให้ยาต้านไวรัสไปอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้

นายสัตวแพทย์ปรีชากล่าวด้วยว่า การรักษาเชื้อโรคดังกล่าวในช้างถือว่าลำบาก เพราะเป็นเชื้อที่ติดในกระแสเลือดและในร่างกาย ซึ่งจะต้องให้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าทางเส้นเลือดช้าง ซึ่งเป็นการให้ยาที่ยากมาก เพราะเส้นเลือดช้างจะเป็นฝอยและเส้นเล็กมาก อีกทั้งช้างยังเล็กจึงดิ้นไปมา การให้ยาจึงยากลำบากตามมา

ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาต่างๆ สูงมาก โดยช้างน้อยเชือกนี้มีค่ารักษาแล้วกว่า 100,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับภาวะการติดเชื้อ ดังนั้น หากเจ้าของช้างหรือควาญช้างพบว่าช้างน้อยมีอาการซึมและหน้าบวม ต้องรีบนำช้างไปรักษาทันที เพราะเชื้อดังกล่าวจะแพร่เข้าสู่ร่างกายเร็วมาก และจะทำให้ช้างเสียชีวิตได้อย่างฉับพลันภายใน 3 วัน

สำหรับเชื้อโรคนี้มักจะเกิดขึ้นกับช้างน้อย ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้น จึงต้องหมั่นสังเกตช้างที่มีอายุไม่ถึง 10 ปี ต้องให้ความสำคัญต่อการติดเชื้อดังกล่าว เมื่อพบว่าช้างป่วยก็ต้องรีบไปรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้และอย่าชะล่าใจ เพราะจะไม่คุ้มต่อชีวิตช้างที่จะเสียชีวิตลง ซึ่งในปีนี้มีช้างน้อยเสียชีวิตไปแล้ว 3 เชือก ใน จ.เชียงราย 2 เชือก และเชียงใหม่ 1 เชือก นับเป็นความสูญเสียต่อชีวิตช้างไทยอย่างมาก นายสัตวแพทย์ปรีชากล่าว

เรื่องน่าสนใจ