วันที่ 21 กรกฎาคม นพ.เพชร อลิสานันท์ แพทย์ประจำหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา แผนกรังสีวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข่าวเรื่องทุเรียนเทศรักษาโรคมะเร็งว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการทำวิจัยในห้องทดลอง เพื่อดูปฏิกิริยาระหว่างสารสกัดใบทุเรียนเทศกับเซลล์มะเร็ง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับและมะเร็งเต้านมบางชนิด แต่กว่าจะพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ต้องผ่านการทดลองอีกมากทั้งในสัตว์ทดลอง และการทดลองในมนุษย์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงระยะยาวก่อนจะนำมาใช้จริง
แต่ขณะนี้พบกระบวนการขายยาที่ทำจากใบทุเรียนเทศ ชาใบทุเรียนเทศ ทางโซเชียลมีเดียมเคเบิลทีวี และรถเร่ โดยอ้างว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด ทำให้ผู้ป่วยหลงผิดไปใช้วิธีการรับประทานยา และชาทุเรียนเทศจำนวนมาก จนเกิดภาวะไต ตับวายเฉียบพลันจนต้องเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จำนวนมาก โดยพบว่าเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.กว่าร้อยละ 60 ต่างจังหวัดส่งตัวเข้ามารักษาอีกร้อยละ 40 จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯตอนนี้ กว่าร้อยละ 80 ต้องหยุดการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อรอให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 1-2 เดือน
“ผู้ป่วยที่เข้ามารักษานั้นส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็งระยะที่ 1 มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่รักษาด้วยเคมีบำบัดตามปกติจะถ่ายยาออกมาทางไต แต่พอผู้ป่วยไปรับประทานผลิตภัณฑ์จากทุเรียนเทศทำให้ไตทำงานผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่สามารถให้เคมีบำบัดได้อีก แพทย์ต้องให้หยุดการกินทุเรียนเทศเพื่อปรับสภาพของไตให้เป็นปกติ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ระหว่างนี้อาจจะทำให้โรคลุกลามได้ ขาดโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้”
นพ.เพชร กล่าวต่อว่า สำหรับใบทุเรียนเทศ และสมุนไพรชนิดต่างๆ นั้นล้วนมีสารต่างๆ มากมาย รวมถึงสเตียรอยด์ตามธรรมชาติด้วย ซึ่งในส่วนของทุเรียนเทศนั้นตนไม่ทราบว่ามีสารอะไรบ้าง แต่พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานเข้าไปแล้วมีภาวะ มือสั่น ขาสั่น สารบางตัวเป็นพิษต่อระบบประสาท และถ้ายังรับประทานต่อเนื่องก็ไม่ทราบว่าจะมีผลเสียในระยะยาวอะไรบ้าง ส่วนตัวแล้วไม่แนะนำให้ใช้ เพราะยังไม่มีข้อสรุปผลการวิจัยว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้จริง