แพทย์เฉพาะทาง กับความชำนาญ สำคัญอย่างไร? ไขข้อข้องใจก่อนศัลยกรรม เชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า “แพทย์เฉพาะทาง” มาบ้างไม่มากก็น้อย และเชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร คือหมอที่เก่งในศาสตร์ด้านนั้นๆ หรือเปล่านะ เอาล่ะ เราลองมาศึกษาไปพร้อมๆ กันเลยค่ะว่า ความถนัดเฉพาะของแพทย์แต่ละสาขานั้นมีความพิเศษอย่างไรบ้าง
โสต ศอ นาสิกวิทยา (Otolaryngology)
คุณหมอที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านนี้ จะมีความรู้ความสามารถในการวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งได้แก่ หู, จมูก, กล่องเสียงหรือช่องคอ, ศีรษะและคอ หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อย่อว่า อีเอ็นที (ENT ที่ย่อมาจากคำศัพท์อวัยวะ ear, nose and throat นั่นเอง) ซึ่งในด้านศัลยกรรม อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า หมอที่ถนัดทางด้านนี้จะทำศัลยกรรมได้เหรอ? ทำได้ค่ะ เพราะในช่วงที่เรียนเฉพาะทางนั้น จะมีคอร์สให้ฝึกการทำศัลยกรรมเพิ่มเติม ก็จะมีความชำนาญในการศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าให้ออกมาสวยงามและปลอดภัย
อนุสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า
(Facial Plastic and Reconstructive Surgery)
ในบางครั้ง แพทย์เฉพาะทางที่ศึกษาทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยานั้น จะต้องเพิ่มประสบการณ์และความรู้ในด้านการศัลยกรรมตกแต่งให้เพิ่มมากขึ้น ในอนุสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง และเสริมสร้างใบหน้านี้ด้วย เพื่อความสามารถในการดูแลผู้ป่วยในระบบหู คอ จมูก คอ ใบหน้า และศัลยกรรมศีรษะ ในส่วนนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจได้ว่า แพทย์ที่มาทำการผ่าตัดให้นั้น มีความรู้ในเรื่องของกายภาพมนุษย์ เข้าใจลักษณะทางกายวิภาคของใบหน้า ศีรษะและคอ ลักษณะสัดส่วนของใบหน้า อีกทั้งยังสามารถทำการศัลยกรรมตกแต่ง และเสริมสร้างใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีความรู้ความสามารถตั้งแต่ความสวยความงามแบบเบสิกๆ อย่างการใช้แสงเลเซอร์ชนิดต่างๆ การผ่าตัดบริเวณใบหน้า การผ่าตัดแก้ไขการทำงานของอวัยวะบนใบหน้า อีกทั้งยังมีความรู้มากมายในการป้องกัน แก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่ทำศัลยกรรมให้คนไข้ได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
“มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน” แนะวิธี “ตรวจสอบหมอเถื่อน” และ “คลินิกเถื่อน” เตือนอย่าเสี่ยงทำเด็ดขาด
วิธีเลือกศัลยแพทย์ อย่างไรให้ลดความเสี่ยง เมื่อเราอยากทำศัลยกรรม
แพทยสภาแนะข้อสังเกตก่อนศัลยกรรม เพื่อความปลอดภัย ไม่ถูกหมอเถื่อนหลอก
ศัลยศาสตร์ หรือ ศัลยกรรม (surgery)
คุณหมอที่จบมาทางด้านศัลยศาสตร์ หรือศัลยกรรม จะมีความรู้ความสามารถในศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือในการผ่าตัดเป็นพิเศษ และมีความรู้ในเรื่องของกายวิภาคมนุษย์ สามารถตกแต่ง แก้ไขการทำงานและรูปลักษณ์ภายนอกของร่างกายได้ ซึ่งแพทย์จะต้องผ่านการสอบเพื่อวุฒิบัตร อนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ ของแพทยสภา และเป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
ศัลยศาสตร์ตกแต่ง (Plastic Surgery)
ศัลยแพทย์ตกแต่ง จะมีความรู้ความสามารถในด้านการผ่าตัดเป็นอย่างดี ทั้งในส่วนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ความผิดปกติ และการเสริมความงาม ความพิเศษของแพทย์ที่มีความชำนาญทางด้านนี้คือ จะต้องเป็นผู้ที่มักจะค้นคว้าหาความรู้วิธีการผ่าตัดใหม่ๆ อยู่เสมอ และต้องผ่านหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้ได้วุฒิบัตรความชํานาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง
จักษุวิทยา (Ophthalmology)
สาขานี้เป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำศัลยกรรม อย่างที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าจักษุแพทย์นั่นแหล่ะค่ะ คุณหมอที่จบมาทางด้านนี้จะมีความรู้ความสามารถในด้านกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และโรคของตา มีความเชี่ยวชาญ ความแม่นยำ สามารถให้คำปรึกษาอย่างละเอียดกับคนไข้ได้ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการสอบผ่านวุฒิบัตร เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งแพทย์จะสามารถการวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาและแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมถูกต้องและปลอดภัยให้กับคนไข้ได้
จักษุแพทย์เฉพาะทาง (Oculoplastic Specialist)
เป็นสาขาหนึ่งของแพทยศาสตร์ ที่ศึกษากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และโรคของตาโดยเฉพาะ หมอที่จบมาทางด้านนี้โดยตรง จะมีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นพิเศษ ในบางคนจะเรียกกลุ่มจักษุแพทย์เฉพาะทางเหล่านี้เป็นภาษาง่ายๆ บ้านๆ ว่า หมอเปลือกตา หมอท่อน้ำตา หรือหมอเบ้าตา เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน คุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ จะช่วยดูแลในกรณีที่เปลือกตาตกหย่อน เปลือกตาม้วนเข้าใน เปลือกตาม้วนออกนอก ทั้งผู้ป่วยตั้งแต่อายุน้อยๆ จนถึงอายุมากเลยก็มี
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (Orthopedic surgery)
ทำการวินิจฉัย และดูแลรักษาด้วยการให้ยา หรือการผ่าตัดในความผิดปกติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย ในภาษาไทยมีชื่อเรียกศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์หลากหลายชื่อ เช่น “ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ” “แพทย์กระดูกและข้อ” “หมอกระดูก” หรือในวงการแพทย์ในประเทศไทยเรียกสั้นๆ ว่า “หมอออร์โธฯ” ซึ่งศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ในประเทศไทย ต้องสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต และสำเร็จการศึกษาแพทย์ประจำบ้านด้านศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ แล้วได้ผ่านการสอบเพื่อวุฒิบัตร และหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปีดิกส์ ซึ่งในประเทศไทยออกให้โดยของแพทยสภานั่นเอง
เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine)
เป็นสาขาการแพทย์เฉพาะทาง ที่รวมความรู้ทางการแพทย์และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแลสุขภาพของครอบครัว เช่น ความผูกพัน, ความรัก, การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัว (มีหลักการเหมือนกันทั่วโลก) โดยการดูแลสุขภาพจะเป็นแบบ Primary และ continuing comprehensive และดูแลปัญหาสุขภาพทั้งทางภาย, พฤติกรรมและสังคม
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Medicine)
เป็นการแพทย์เฉพาะทาง ที่มุ่งเน้นการวินิจฉัยและรักษาความเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บที่เกิดฉับพลัน และต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า แพทย์ ER จะต้องได้รับการอบรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินหลักสูตร 3 ปี มีวุฒิบัตร หรืออนุมัติบัตร เทียบเท่าสาขาเฉพาะทางอื่นๆ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการออกไปรับส่งคนไข้กับรถพยาบาล หรือยานพาหนะอื่นๆ ต้องมีองค์ความรู้ เรื่อง clinical Emergency medicine หรือมีความรู้ในเรื่องศาสตร์ต่างๆ ของแพทย์ด้วย
………………………………………………………….
เพราะฉะนั้นเเล้ว การที่เราจะเริ่มต้นทำศัลยกรรมอะไรสักอย่าง การพิจารณาจากความชำนาญของแพทย์ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดค่ะ เพราะแพทย์ที่ร่ำเรียนและจบมาเฉพาะทางนั้น แน่นอนว่าเค้าต้องมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดทำสัลยกรรมนั้น ลองตรวจสอบรายชื่อของแพทย์ที่เรากำลังเล็งๆ ไว้อยู่สักนิด ว่ามีความเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษบ้าง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมศัลยกรรมตกแต่งแห่งประเทศไทยได้เลยค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่