สาธารณสุข เตือนช่วงสงกรานต์อากาศร้อน อาหารบูดเสียได้ง่าย เตือนระวัง 10 เมนูยอดนิยมที่ปรุงจากเนื้อสัตว์แบบสุกๆดิบๆ หรือมีส่วนผสมของกะทิ เสี่ยงเป็นโรคอุจจาระร่วง โดยปี 2560 นี้ พบป่วยแล้วกว่า 2 แสนคน แนะประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
ผู้สื่อข่าว โดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ 14 เมษายน 2560 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่ ประชาชนจะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด และเลี้ยงฉลองในกลุ่มญาติพี่น้องและ เพื่อนๆ ตามร้านอาหารแนะนำอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู
ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก
และ 10.น้ำแข็ง ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ควรรับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ อาหารทะเล ก็ขอให้ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง ไม่รับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงสำหรับอาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นและทำให้สุกก่อนมารับประทานใหม่ หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด
จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม – 1 เมษายน 2560 ทั่วประเทศพบ “ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ” 277754 ราย เสียชีวิต 1 ราย การป้องกันทั้งสองโรคดังกล่าว ขอแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาดล้างผัก/ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
ได้แก่ 1.กินร้อน คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อรับประทานอาหารในหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหารและ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
ภาพจาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการ คล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำหากอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง