แพทย์เตือนเด็กดื่มนมแม่คนอื่นเสี่ยงติดโรค หมอเด็กชี้เลือก แม่นม ต้องตรวจเชื้อเอชไอวี-ตับอักเสบบีก่อน ระบุเชื้อส่งผ่านน้ำนมไปถึงเด็กได้
จากกรณีสังคมออนไลน์ชื่นชมพยาบาลให้ทารกดูดนมตัวเองแทนแม่ของเด็กที่ยังไม่สามารถให้นมบุตรเองได้ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ และศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Yong Poovorawan ว่า
“อ่าน social media แล้วตกใจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าไม่ควรบริจาคนมแม่ในเวชปฏิบัติ ถ้าทารกไปดูดนมแม่อื่นที่ไม่ใช่แม่ของตน ทางตะวันตกจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ให้ดูแลทารกนั้นเหมือนบุคคลากรทางการแพทย์ ที่ถูกเข็มตำทีเดียว เพราะในนมแม่ที่ไม่ใช่แม่ทารกเอง ไม่ทราบว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้าง เช่น HIV ไวรัสบี ไวรัสซี EBV CMV herpes etc. ถึงแม้ว่านมแม่จะดีที่สุด ก็ดีที่สุดสำหรับลูกตัวเอง ไม่ควรบริจาคให้ใครเด็ดขาด ถ้าจะมีการให้นมแม่ ก็จะมีธนาคารนม การจัดจำหน่ายต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อที่ถูกวิธี โดยคุณค่านมไม่เสีย จะเป็นการลงทุนที่สูงมาก”
ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ สาขาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กทารกที่ไม่สามารถดูดนมแม่ตัวเองได้มีหลายสาเหตุ เช่น ความเจ็บป่วยของแม่หรือลูก แรงดูดนมของลูกไม่เพียงพอ หรือแม่ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือตับอักเสบ เป็นต้น เด็กทารกจึงจำเป็นต้องได้รับนมจากแหล่งอื่นแทน โดยทั่วไปมักจะให้ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกแทน แต่คนเชื่อว่านมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก
บางส่วนจึงมีการให้ผู้หญิงคลอดบุตรรายอื่นมาให้นมแทน ซึ่งส่วนตัวมองว่าการไปอาศัยนมแม่คนอื่นบางครั้งอาจไม่สามารถป้อนให้เด็กได้ตลอดเวลา ที่สำคัญการจะเลือกผู้มาให้นมทารกแทนแม่นั้น หรือที่สมัยก่อนเรียกว่าแม่นมก็มีความสำคัญมาก เพราะจะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปลอดภัยสำหรับทารกจริงๆ
ศ.นพ.พิภพ กล่าวอีกว่า หากจะให้ผู้อื่นมาเป็นแม่นมแก่เด็กทารก หญิงคนดังกล่าวควรต้องมีการตรวจสุขภาพเพื่อยืนยันว่า ให้นมแล้วเด็กจะปลอดภัย ที่สำคัญคือต้องมีการตรวจ 2 โรคคือ การติดเชื้อเอชไอวี แต่การตรวจยังมีปัญหาคือในระยะฟักตัว 6 เดือน อาจจะยังตรวจไม่พบ และไวรัสตับอักเสบบี เพราะหากเป็นพาหะก็สามารถทำให้ทารกได้รับเชื้อผ่านทางน้ำนมได้
นอกจากนี้ ที่ต้องใส่ใจอย่างมากอีกเรื่องคือ การแพ้ของเด็กทารก เช่น แพ้โปรตีนนมวัว เป็นต้น หากเด็กมีอาการแพ้สารอาหารต่างๆ ผู้ที่จะมาเป็นแม่นมแทนนั้นก็จะต้องมีการควบคุมอาหาร ไม่รับประทานอาหารในสิ่งที่ทารกแพ้ เพราะสารอาหารดังกล่าวเด็กจะได้รับผ่านน้ำนม ทำให้เกิดอาการแพ้ในเด็กและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กทารกเองได้