นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันอัมพาตโลก ( World 1 Stroke1Day) ปีนี้กำหนดประเด็นการรณรงค์คือ “อัมพฤกษ์ อัมพาต ป้องกัน รักษาได้ (Face the facts: Stroke is treatable.)”
โดยเน้นการป้องการควบคุมโรคหลอดเลือดสมองใน 3 ประเด็น คือ สร้างความตระหนักต่อโรค, ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันโรค
ภาพจาก The Skinny Bitch Chronicles
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคหลอดเลือดสมองเป็นนโยบายระดับชาติ โดยให้โรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงขึ้นไป จำนวน 206 แห่ง จัดหน่วยบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) ระบบ Stroke Fast Track
หรืออาจจัดมุมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ ตลอดจน สร้างความร่วมมือในการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทุกภาคส่วน ในปี 2559 จัดนิทรรศการให้ความรู้ประชาชนเรื่องสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง
เช่น ใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว คิดสับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการข้างต้นรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ได้เปิดโปรแกรม Thai CV Risk Score ทางลิงค์ http://med.mahidol.ac.th/cvmc/thaicv และแอพพลิเคชั่น 2 ตัว ได้แก่ Fast Track และ Thai CV risk calculator เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วยตัวเอง
โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีคำถามเพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคและให้คำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส(IOS) และแอนดรอย์ (Android)
ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ป่วยอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 17 ล้านคน เสียชีวิตจำนวน 6.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ในปี 2556-2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่ากับ 36.13, 38.66 และ 42.62 ตามลำดับ
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้แก่ 1.ภาวะความดันเลือดสูง 2.ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนา 3.การสูบบุหรี่ 4.การดื่มสุรา 5.เบาหวาน 6.ไขมันในเลือดสูง 7.ภาวะหลอดเลือดคาโรติดตีบ (บริเวณคอ) โดยไม่มีอาการ 8.เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน