นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรม สบส.ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปกระจายทั้ง 4 ภาค
รวมทั้งในเขตกทม.และปริมณฑล ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งการล้างมือเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่กรม สบส.เร่งปลูกฝังเนื่องจากมีประสิทธิภาพ เป็นวิธีการป้องกันโรคที่ประหยัด ให้ผลดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 512 คน ผลปรากฏว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมมือสะอาด คือล้างมือฟอกสบู่ติดเป็นนิสัย กระทำทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม และก่อนรับประทานอาหาร ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 คน
ผู้หญิงล้างมากกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 10 กลุ่มที่ล้างมากอันดับ 1 ได้แก่พนักงานบริษัท ร้อยละ 34 รองลงมาคือนักเรียน นักศึกษาร้อยละ 26 และกลุ่มว่างงานร้อยละ24 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือปฏิบัติมากที่สุดร้อยละ 44 รองลงมาคือภาคเหนือร้อยละ 41 และกทม./ปริมณฑล ร้อยละ 19
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คืออีกร้อยละ 72 ล้างบ้างไม่ล้างบ้าง และไม่เคยล้างเลยร้อยละ 3 ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้ มีความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคต่างๆที่ติดมากับมือ ไปสู่คนอื่นได้เช่นเชื้อโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวพบได้ตลอดปีปีละ 1 ล้านกว่าราย สาเหตุของโรคนี้เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่มีอยู่ในอุจจาระเช่น อี.โคไล ซึ่งติดมากับมือและปนเปื้อนในอาหารและน้ำที่รับประทานเข้าไป ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการล้างมือและฟอกสบู่
“ผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าในอุจจาระของคน น้ำหนัก 1 กรัม จะมีเชื้อโรค 1 ล้านล้านตัว หากมีอุจจาระติดมือ เชื้อโรคก็จะติดมาด้วยและมีโอกาสก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ มีผลการศึกษาเปรียบเทียบในต่างประเทศ พบว่า หากไม่ล้างมือเลย จะตรวจพบเชื้อโรคบนมือได้มากถึงร้อยละ 44 หากล้างมือด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียว จะช่วยขจัดเชื้อโรคออกจากมือได้ประมาณร้อยละ 70 แต่หากล้างมือด้วยน้ำและฟอกสบู่ทั่วๆไป จะสามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงออกจากมือได้ถึงร้อยละ 92 ซึ่งให้ผลต่อการป้องกันโรคได้ดีพอๆกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค” นายแพทย์ประภาส กล่าว
สำหรับการปลูกฝังพฤติกรรมการล้างมือฟอกสบู่นั้น ควรเริ่มในครอบครัว ผู้ปกครองพ่อแม่ควรเริ่มสอนตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กที่สื่อสารเข้าใจ ประการสำคัญที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างทำให้เด็กเห็น เด็กจะเกิดการเรียนรู้และจดจำโดยอัตโนมัติ
ขณะที่ฝึกเด็กจะต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นเรื่องสนุกที่เด็กๆชอบ และเมื่อทำสำเร็จแล้ว จะต้องมีคำชื่นชมเด็ก เมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน ก็จะมีการสอนเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการ ตอกย้ำให้เด็กเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดถูกวิธีมี 7 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ฝ่ามือถูกัน ขั้นตอนที่ 2 ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว ขั้นตอนที่ 3 ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว ขั้นตอนที่ 4 หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ ขั้นตอนที่ 5 ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบฝ่ามือ ขั้นตอนที่ 6 ปลายนิ้วถูขวางฝ่ามือ ขั้นตอนที่ 7 ถูรอบข้อมือ
ทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง ใช้เวลาไม่นานเพียง 10-20 วินาที หากประชาชนทุกคนล้างมือให้สะอาด มั่นใจว่าจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารจะลดลง รวมทั้งลดโรคอื่นๆที่เชื้อติดมากับมือเช่นกัน เช่นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย