นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสบส.มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนในต่างจังหวัดที่จะเดินทางไปร่วมแสดงการไว้อาลัย ความจงรักภักดี และ ถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในพระบรมมหาราชวัง กทม.
ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก จึงขอให้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง โดยรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ผู้ที่ไม่สบาย ขอให้เลื่อนการเดินทางไปก่อน ผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ขอให้พกยาที่ต้องกินประจำเวลาติดตัวมาด้วยในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทาง หรืออาจสำรองเผื่อไว้ 2-3 วัน และควรติดชื่อยาไปด้วย เพราะหากยาสูญหาย จะได้แจ้งแพทย์ได้ถูกต้อง และกินยาต่อเนื่อง
นายแพทย์วิศิษฏ์ กล่าวว่า ประการสำคัญ ขอให้ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ขอให้ยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนกลางและล้างมือ โดยให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ธรรมดาทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นสบู่ฆ่าเชื้อ ภายหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง
เนื่องจากเป็นสถานที่สาธารณะที่มีคนใช้ร่วมกันจำนวนมาก และล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ หากไม่สะดวกหรือไม่มีน้ำ สามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนได้เช่นกันในกรณีที่มือไม่ได้เปื้อนสิ่งสกปรก ซึ่งจะป้องกันเชื้อโรคเข้าร่างกายป้องกันโรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้จะติดมากับมือเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งประชาชนสามารถพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไปได้ทุกที่และใช้ได้สะดวกไม่ต้องใช้น้ำล้างตาม นอกจากนี้ขอให้ประชาชนดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอวันละประมาณ 8 แก้ว เพื่อช่วยให้การไหลเวียนโลหิตในร่างกายดี หัวใจทำงานปกติและมีประสิทธิภาพแข็งแรงขึ้น ระบบการขับถ่ายของเสียทำงานได้ดี
ทั้งนี้การล้างมือฟอกสบู่ เป็นการทำความสะอาดป้องกันโรคเบื้องต้นด้วยตนเองที่ได้ผลดีที่สุด มีประโยชน์มหาศาลในการป้องกันโรค โดยเฉพาะการใช้ชีวิตร่วมกับคนหมู่มาก ต้องใช้ของร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่น ห้องน้ำห้องส้วม ราวบันได ราวรถเมล์ เบาะรถโดยสาร เป็นต้น เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญในการนำเชื้อโรคจากแหล่งต่างๆเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายที่สุด โดยใช้เวลาล้างเพียง 15-30 วินาที ถูฟอกที่ฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้ว นิ้วมือสลับกันทั้ง 2 ข้าง ฟองสบู่จะทำให้เชื้อโรคหลุดได้ง่ายขึ้น จะให้ผลในการขจัดเชื้อโรคออกไปจากมือได้ร้อยละ 90
ผลวิจัยทั่วโลกยืนยันว่าการล้างมือด้วยสบู่ได้ผลในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงร้อยละ 31 ลดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ได้ร้อยละ 21