นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส. ) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชน ของกรมสบส. ให้สัมภาษณ์ว่า
สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ส่งผลให้ประชาชนเกิดปัญหาน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอันดับต้นๆ ที่พบในพื้นที่ประสบภัย เนื่องจากการเดินลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน ทำให้เท้ามีความชื้นตลอดเวลา หนังเปื่อย ลอก คันและแสบ เช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลของการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบผู้ประสบภัย เป็นโรคนี้เฉลี่ยวันละประมาณ 400 ราย โรคนี้อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมาได้
นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว หัวใจสำคัญคือการรักษาความสะอาดของเท้า และต้องทำให้แห้ง และมีความชื้นน้อยที่สุด หากเป็นไปได้ควรสวมรองเท้าบูทยางทุกครั้งที่ลุยน้ำ ถ้าระดับสูงเกินกว่าขอบรองเท้า ให้ใช้ถุงดำสวมครอบเท้า แล้วใช้หนังยางรัด
หากน้ำเข้ารองเท้าให้หมั่นเทน้ำออกเป็นระยะๆ และไม่ควรใส่รองเท้าและถึงเท้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง หลังลุยน้ำแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ และเช็ดให้แห้งที่สุด
โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า อาจใช้แป้งฝุ่นโรย เพื่อช่วยให้แห้งและไม่ระคายเคือง นอกจากนี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องหมั่นดูแลเท้าและขา ไม่ให้เกิดบาดแผลใดๆ อย่าแคะหรือตัดเล็บจนเป็นแผลที่ข้างเล็บหรือที่เรียกว่าจมูกเล็บ ซึ่งจะทำให้เป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
ที่น่าเป็นห่วง คือผู้ประสบภัยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว หากเป็นไปได้ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ไม่ให้เท้าแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องลุยน้ำ ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ขอให้สวมรองเท้าบูทยาง ซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำกัดเท้าและป้องกันของมีคมในน้ำที่อาจทำให้เกิดแผล
หากเท้าสัมผัสน้ำสกปรกให้รีบทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว ควรหลีกเลี่ยงการทาโลชั่นบริเวณซอกนิ้ว เนื่องจากอาจทำให้เกิดการหมักหมม ติดเชื้อราได้ง่าย ประการสำคัญต้องตรวจเท้าตัวเองทุกวัน หากพบความผิดปกติ เช่นมีผื่นคัน หนังเป็นขุย มีตุ่มพุพอง หรือมีแผลอักเสบ จะเจ็บปวดหรือไม่ก็ตาม ขอให้แจ้ง อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่
ทั้งนี้ อาการของโรคน้ำกัดเท้า จะมี 2 ระยะ ในระยะแรกเริ่มเป็น จะระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำ ทำให้เท้าเปื่อย ลอก แดง หากมีอาการคันและเกาจนเป็นแผลถลอก จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้
ส่วนในระยะที่ 2 เป็นระยะที่ผิวหนังเปื่อยและลอกเป็นแผล อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ โดยหากติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้เกิดการอักเสบ แผลบวมแดง ร้อนเป็นหนอง และปวด หากติดเชื้อราชนิดเดอมาโตไฟต์ ( Dermatophyte ) ทำให้มีอาการคัน ผิวเป็นขุยและลอกออกเป็นแผ่นสีขาว
อาจมีกลิ่นเหม็นด้วย เชื้อราที่ซอกนิ้วเท้าซึ่งเกิดขึ้นหลังจากน้ำกัดเท้าบ่อยๆเป็นเวลานาน จะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังรักษาหายยาก แม้ว่าจะใช้ยาทาจนดูเหมือนหายดีแล้วก็ตาม หากเท้าอับชื้นเมื่อใด เชื้อราจะลุกลามขึ้นมาใหม่ เป็นๆหายๆเป็นประจำ