ที่มา: มติชน

ชาวเน็ตกำลังฮือฮา กับ แลนมาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นอาคารรูปพญาคักคาก หรือ คางคก สูงเท่าตึก 5 ชั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทวน จนบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า สามารถสู้กับเมอร์ไลอ้อน ได้สบาย!!!


โดยภายในอาคารพญาคักคาก มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญ ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนอีสาน เช่น ตำนานบั้งไฟ

14320375741432037643l

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รอง ผอ. รักษาการแทน ผอ. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมติชนรายวัน ถึงโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก (คางคก) ที่ จ. ยโสธร ซึ่งเป็นโครงการจัดทำศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุน

โดยมีอาคารพญาคักคาก ออกแบบเป็นรูปคางคก และอาคารพญานาค ออกแบบเป็นรูปพญานาคเลื้อย บริเวณริมฝั่งลำน้ำทวน ที่ต่อเชื่อมกับสวนสาธารณะพญาแถน

“คางคกเป็นสัตว์ที่คนส่วนใหญ่เกลียด เป็นอุบายของคนโบราณที่จะแต่งเรื่องนี้ให้คนหันมาอนุรักษ์คางคก ไม่ฆ่าคางคก เพราะคางคกเป็นสัตว์กินแมลง —– คางคกในประเทศไทยมี 32 พันธุ์ จะเอามาโชว์ให้หมดเลย สุดท้ายคือ ของดีเมืองยโสธร ซึ่งมี ข้าวหอมมะลิ แตงโมหวาน แล้วก็มีปลาส้ม คือนอกจากให้ความรู้ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจการขายสินค้า”

นายสาครกล่าวถึงแนวคิดในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานพญาคันคาก ซึ่งสามารถรบเอาชนะพญาแถน เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ ทั้งยังเกี่ยวพันกับกำเนิดพิธีกรรมการยิงบั้งไฟ และเสริมว่า

14320375741432037651l

“การยิงบั้งไฟไม่ได้มีแค่ไทย เขมรก็มี ลาวก็มี เราต้องช่วงชิง เพราะต่อไปจะไร้พรมแดน ประเทศไทยจะต้องช่วงชิงมาก่อน เหมือนกับมวยไทย ที่พม่าก็มี มาเลย์ก็มี เมื่อก่อนเรียก ‘คิก บ็อกซิ่ง’ แต่ตอนนี้เรียก ‘มวยไทย’”

ซึ่งนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านศิลปวัฒนธรรมชื่อดัง ได้เขียนบทความเผยแพร่ในมติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ไทยคุ้นเคยและถูกครอบงำด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะที่เต็มไปด้วยเศียรพระ แขนพระ ขาพระ เหมือนโบสถ์ วิหาร การเปรียญ จึงอาจรู้สึกขัดๆ ข้องๆ ต่อมิวเซียมคางคกและพญานาคซึ่งจะมีขึ้นที่ยโสธร

แต่แท้จริงนี่คือมิวเซียมที่ไทยควรมีนานแล้ว ขนานไปกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วควรมีมิวเซียมหลากหลายแบบอื่นๆ อีกอย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่ทิ้งวิชาการ

นี่อาจเป็นแนวทางมิวเซียมในอนาคตของไทยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่วธ.ต้องทบทวนตัวเอง

เรื่องน่าสนใจ