ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เผยปริมาณน้ำเหลือใช้งานได้เพียง 30 % หลังฝนตกเข้าเขื่อนน้อย เร่งชี้แจงแนวทาง 8 มาตรการหลักช่วยเหลือเกษตรกร วอน ปชช. ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า
นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์(อขส.) ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำทำนาในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทราบถึงปริมาณน้ำต้นทุน และ กำหนดแนวทาง 8 มาตรการหลักสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 โดยปีนี้ถือว่าวิกฤติภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด เพราะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อยมาก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 4,900.65 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 51.53 เหลือน้ำพร้อมใช้งาน 2,050.65 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็นร้อยละ 30.79
ทั้งนี้ เขื่อนสิริกิติ์ ได้ระบายน้ำตามแผนของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน คณะกรรมการฯ จึงได้มีแผนการระบายน้ำตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558 จะระบายน้ำวันละ 5.0 ล้านลูกบาศก์เมตร วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ระบายน้ำวันละ 8.0 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ว่าปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันของเขื่อนทั้ง 4 แห่ง จะมีปริมาณน้ำมากกว่าเป้าที่ได้ตั้งไว้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก สามารถจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และ รักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ได้ เนื่องจากปีนี้ฝนไม่ตกบริเวณเหนือเขื่อนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม จึงขอให้เกษตรกรพิจารณางดการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำสูง ตลอดจนขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต
ด้านนายสังวาล ดูระยับ รักษาการแทนประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 511 ราย รวมกว่า 6,900 กระชัง มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งได้กำหนดมาตรการรับสถานการณ์ภัยแล้งไว้ 3 แนวทาง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ 1.การแจ้งเตือนภัยเกษตรกร โดยกำหนดรูปแบบการเลี้ยงที่สอดคล้องกับระดับน้ำ 2.การให้คำแนะนำด้านวิชาการ และ 3.การวางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยต้องลด หรืองดการเลี้ยงสัตว์นำในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่สันดอน โดยเกษตรกรอาจหันไปเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย เช่น กบ ปลาดุก ปลาหมอ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางป้องกันความเสียหายจากสภาวะภัยแล้งไว้ 6 แนวทาง ได้แก่ จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค ปรับสภาพดินและคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงปลา งดเว้นการรบกวนสัตว์น้ำและขนย้ายสัตว์น้ำในบ่อ ทำร่มเงาให้สัตว์น้ำเข้าพักและป้องกันการระเหยของน้ำบางส่วน ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำ และ แจ้งความเสียหายเพื่อรับความช่วยเหลือต่อไป.