ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

แซส เปิดตัวผลสำเร็จเทคโนโลยีด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ในชื่อ “Smart Grid” ยกเป็นระบบจัดการพลังงานแห่งอนาคต ชูจุดเด่นลงทุนน้อยกว่าแต่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถควบคุมและคาดการณ์ได้ดีกว่า…

EyWwB5WU57MYnKOuXxyHEAAQTCNGtZCmwrHMrObYlHQWxOI3CH8lF9

จากการใช้งานพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จึงพยายามคิดค้นระบบและเทคโนโลยีเพื่อช่วยตอบสนองการลดใช้พลังงาน ตั้งแต่ระบบจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผล ซึ่งล่าสุด บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดตัวเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานและบริการสาธารณูปโภค ภายใต้ชื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด (Smart Grid)

นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของการใช้สมาร์ทกริดในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เพื่อจัดการระบบพลังงานนั้น ขณะนี้บริษัทได้มีโครงการนำร่องที่พัทยาแล้ว และคาดว่าภายใน 3-5 ปี การใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวจะแพร่หลายในหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย จากประโยชน์ในการใช้จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความเหมาะสมในการวางแผน คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตได้แบบตัวเลข 2 หลัก ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากมีบริษัทเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในประเทศไทย รวมถึงได้รับแรงผลักดันจากนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของรัฐบาลที่อาจทำให้เกิดการลงทุนซอฟท์แวร์ด้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังมีต้นแบบความสำเร็จในการควบคุมค่าใช้จ่ายของต่างประเทศด้วย

สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานของแซส สามารถวิเคราะห์ลงลึกไปถึงการดูแลอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่างๆ อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องในแผนกการบำรุงรักษา โดยมีระบบบริหารจัดการเพื่อให้อุปกรณ์ใช้งานได้นาน ช่วยยืดอายุเวลาของอุปกรณ์ และสามารถคาดการณ์ความเสียหายของอุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า ในอุปกรณ์ที่ทำงานมานาน เนื่องจากอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สำคัญในธุรกิจสายส่งไฟฟ้า ซึ่งองค์กรมีการลงทุนอุปกรณ์เหล่านี้ในมูลค่ามหาศาลต่อปี

ปัจจุบันกิจการสาธารณูปโภคในตลาดเอเชียแปซิฟิกและอเมริกาเหนือ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุปกรณ์ใหม่ที่เรียกว่าชุดตรวจจับ (Synchrophasors) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของเฟเซอร์แรงดันในระบบไฟฟ้า (PMU) โดยชุดอุปกรณ์ PMU นี้สามารถตรวจวัดแรงดันและทราบข้อมูลการส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงได้ด้วยความเร็วสูง ซึ่งการวัดแต่ละครั้งจะมีการประทับตราเวลาเพื่อสร้างมุมมองวิเคราะห์แบบองค์รวมของกระแสไฟฟ้าบนโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้า ด้วยซอฟท์แวร์แอพพลิเคชั่นด้านการวิเคราะห์ข้อมูลของแซสในอุปกรณ์ Synchrophasors จะช่วยให้การบ่งชี้จุดที่มีความผิดปกติ แรงดันความเครียดของสนามไฟฟ้าบนโครงข่ายทำได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถนำไปใช้เพื่อกำหนดสัญญาณเตือนระดับความเสี่ยงอีกด้วย

ด้าน นายซัทยาจิต ดวิเวดิ ผู้อำนวยการด้านพลังงานและการวางแผนกลยุทธ์ SAS Institute Inc. กล่าวว่า เทคโนโลยีสมาร์ทกริดมีตัวอย่างของความสามารถใหม่ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ อาทิ การคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาที่ใช้งาน การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าขัดข้องที่มีความซับซ้อน และการตรวจจับการลักลอบใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งความสามารถเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการและอัตราการใช้พลังงานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ รวมถึงการบริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งการลงทุนรูปแบบใหม่นี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าแบบเก่าไปพร้อมกัน.

เรื่องน่าสนใจ