ในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กแห่งนี้ มีการให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นตั้งแต่ต้น โดยมีทั้งเด็กๆ รวมทั้งผู้นำในชุมชน เข้ามาร่วมกันกำหนดความต้องการต่างๆ ร่วมกัน ทั้งรูปแบบอาคาร วัสดุ และขนาดของอาคาร ทำให้อาคารที่ได้มาจากความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง มิใช่การยัดเยียดให้จากผู้ออกแบบซึ่งไม่ได้ใช้งานจริง
ภายในศูนย์แห่งนี้ ประกอบไปด้วยพื้นที่ใช้งานที่หลากหลาย เพื่อรองรับการใช้งานของเด็กๆ ประมาณ 300 คน หญิงตั้งครรภ์ 100 คน และทารกเกิดใหม่ 200 คน พื้นที่ใช้สอยต่างๆ ประกอบด้วยห้องเรียน 10 ห้อง โถงรับประทานอาหาร พื้นที่นันทนาการทั้งในร่มและกลางแจ้ง พื้นที่ทำงานศิลปะ ห้องพยาบาล สำนักงานบริหาร แปลงสำหรับเพาะปลูก สนามเด็กเล่น และลานกิจกรรม
เทคโนโลยีการก่อสร้างทั้งหมด ตั้งอยู่บนเทคโนโลยีแบบชาวบ้าน ที่มีความเรียบง่าย โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก ผนังของอาคารส่วนใหญ่ทำมาจากดินอัดที่มีความแข็งแรงและป้องกันความร้อนได้ดี โครงสร้างเสา ผนังบางส่วน และโครงหลังคา ทำมาจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง โดยใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ประยุกต์มาจากการก่อสร้างของท้องถิ่น ถือเป็นตัวอย่างของการนำภูมิปัญญาในอดีตมาผสมผสานกับวิถีชีวิตปัจจุบันได้ เป็นอย่างดี