โรคคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม ภัยเงียบของวัยทำงาน รู้ไว้ ก็รักษาได้ไว!

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่น
lockporteyes.com

ในปัจจุบัน ทั่วทุกประเทศในโลกได้มีการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีต่างๆ ก่อให้เกิดสิ่งอํานวยความสะดวกในการทํางานของมนุษย์ โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ที่เราได้นํามาใช้ กันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจําวันของผู้คนเกือบจะทุกกลุ่มอายุและทุกอาชีพ การทํางานของผู้คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในระบบการติดต่อ และระบบข่าวสารข้อมูล ทั้งในด้านการบริการ การจัดการ การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล

ภัยเงียบของวัยทำงาน “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” รู้ไว้ ก็รักษาได้ไว!

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม เป็นปัญหาสุขภาพที่สําคัญที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทํางาน ซึ่งต้องนั่งทํางานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่ค่อยได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ตลอดจนสายตาที่ต้องเพ่งจ้องมองที่จอภาพอยู่ตลอดเวลา ทําให้ต้องพบกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาทางสายตา ปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปัญหาความเครียด ซึ่งหน่วยงานทางสุขภาพพยายามที่จะส่งสัญญาณเตือนมาตลอด แต่ความตระหนักของสังคมในเรื่องนี้ เสมือนเป็น “ภัยเงียบ” ที่ต้องให้ความใส่ใจ

ภัยเงียบของวัยทำงาน

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computervision Syndrome (CVS) เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องจากงาน (work related disease) โดยคนส่วนใหญ่มักมองข้ามไป เนื่องจากผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่จะค่อยๆ สะสมความเสื่อมของดวงตาไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ทันระวังตัว ซึ่งกลุ่มอาการนี้แบ่งเป็น 4 อาการ คือ อาการปวดตาหรือเมื่อยล้าตา  อาการเคืองตาหรือแสบตา อาการตาพร่ามัวหรือมองเห็นไม่ชัด  และอาการมองเห็นภาพซ้อน

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ มีอะไรบ้าง?

เพศ
โรคนี้มักเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะสาวๆ วัยใกล้หมดประจำเดือน ทั้งนี้ เนื่องจากการทํางานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อตาเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งเพศหญิงมีกล้ามเนื้อตาที่ขนาดเล็กกว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยกว่าเพศชาย จึงทําให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าได้มากกว่าเพศชายได้

อายุ
คนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มจะมีอาการของโรคนี้ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น จะมีการแปรผันกับความเสื่อมในการมองเห็น ความสามารถในการหักเหแสงของแก้วตา และประสิทธิภาพของประสาทตาที่ช่วยการมองเห็นจะลดลง โดยเฉพาะอาการตาแห้ง สูงเป็น 2.2 เท่า

ภัยเงียบของวัยทำงาน

ภาวะสายตา/โรคตา
ผู้มีปัญหาสายตาก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้เช่นกัน เนื่องจากคนที่สายตาผิดปกตินั้น เมื่อทํางานนานๆ ที่ต้องจ้องมองจอภาพ ทําให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง ส่งผลต่อการเกิดอาการได้มากกว่าคนที่มีสายตาปกติ  สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาหรือโรคทางตา ทําให้การมองเห็นภาพผิดปกติ และจอประสาทตาทํางานหนัก มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการของโรคนี้ได้

พฤติกรรม (การพักสายตาที่ไม่เหมาะสม การนอนหลับไม่เพียงพอ)
ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ถึง 5.5 เท่า เนื่องจากปกติเเล้ว ร่างกายคนเราต้องการนอนหลับวันละ 6-8 ช.ม. ถ้านอนหลับไม่เพียงพอ จะทําให้กล้ามเนื้อร่างกายและกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า ก่อให้เกิดอาการของโรคนี้ขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหานอนหลับยาก และการตื่นในช่วงกลางคืน

ความเครียด
ผู้มีภาวะเครียด มีโอกาสเสี่ยงเป็น 2.4 เท่า เนื่องจากเมื่อเครียด จะทําให้กล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวบ่อยๆ ทําให้ความยาวของกล้ามเนื้อลดลง ยืดออกได้ไม่เท่าเดิม เป็นผลให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ ส่งผลต่อปัญหาทางตา ปวดตา ตาพร่ามัว ปวดศีรษะได้

ไม่อยากเป็นโรคนี้ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
สิ่งสำคัญคือ ควรจัดท่าทางในการใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงานควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 15 – 20 องศา ควรอยู่ในมุมที่ไม่มีแสงจากภายนอกมาตกกระทบ เพราะจะไม่ทำให้เราต้องเพ่งสายตามากกว่าปกติ เมื่อนั่งทำงานไปสักพักเเล้ว ควรพักสายตาทุกๆ 20 นาที อาจจะลองมองออกไปไกลๆ หรือมองความสดชื่นของต้นไม้ใบหญ้า ท้องฟ้า คนที่มีอายุเยอะๆ ก็ควรเลือกใช้แว่นตาและเลนส์แบบ Multicoat เพราะจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้

และที่สำคัญ หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาหรือสายตาของตัวเองด้วย เข้ารับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคดังกล่าว หรือกลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังแก้ไขได้ยากค่ะ

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ