ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ (21 ก.ค.60) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการดูแลสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากสถานการณ์การก่ออาชญากรรมอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยทางจิตของผู้กระทำผิดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ผลการศึกษาความผิดปกติทางจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษธนบุรี ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ล่าสุดในปี 2558 พบผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 36.2
เช่น เครียด นอนไม่หลับ และพบว่าป่วยเป็นโรคจิตร้อยละ 7.7 โรคซึมเศร้าร้อยละ 8.4 โรควิตกกังวลร้อยละ7.8 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 7.2 โดยกรมฯได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์จัดระบบการดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเนื่องจากผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยจิตเวชเหล่านี้ยังคงต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ต้องขังทั่วไปภายในแดนและเรือนนอน ซึ่งมักประสบปัญหาถูกรังเกียจ รังแกหรือถูกรุมทำร้าย ล้อเลียน เนื่องจากผู้ต้องขังทั่วไปมักขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช
ในการดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้าถึงบริการและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ได้มอบให้สถาบันกัลยาณ์ฯซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ พัฒนาระบบบริการแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง มีผู้ต้องขัง 319,941 คน
มีโรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ 13 แห่ง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรับส่งต่อดูแลในรายที่อาการรุนแรง ซับซ้อน เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป 77 จังหวัดแบบไร้รอยต่อ ซึ่งได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิตและกรมราชทัณฑ์ซึ่งมีทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้คุม เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ
โดยเน้นการตรวจคัดกรองหาผู้ต้องขังที่มีปัญหาทั้งรายเก่ารายใหม่ เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ฟื้นฟู การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และได้เพิ่มการฝึกอบรมผู้ต้องขังชั้นดีให้เป็นอาสาสมัครเรือนนอนหรืออสน.ทำหน้าที่คล้ายเป็นอสม. ช่วยดูแลสุขภาพขั้นต้นแก่ผู้ต้องขังด้วยกันทั้งสุขภาพจิต รวมทั้งโรคทางกายอื่นๆ เช่น วัณโรค เพื่อให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่องด้วย
“ สำหรับผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชเมื่อจะพ้นโทษ ได้พัฒนาระบบการส่งต่อ โดยจัดทำทะเบียนประวัติและที่อยู่ ผู้ป่วยทุกราย มีการเตรียมพร้อมทั้งผู้ป่วย ญาติ และชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่ให้มีปัญหาขาดยา หรือขาดการรักษา
ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดจะป้องกันการก่อคดีซ้ำ ไม่กลับเข้าสู่เรือนจำอีกสามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวชุมชนได้ ผลการดำเนินการพบว่าได้ผลดี ในรอบ 9 เดือนปีนี้ สามารถป้องกันผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชก่อคดีซ้ำหลังพ้นโทษได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านนายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จ.นครปฐม กล่าวว่า จากรายงานต่างประเทศเช่นที่สหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงจะอยู่ในเรือนจำมากกว่าอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช
ซึ่งในปี 2560 นี้สถาบันกัลยาณ์ฯได้วางแผนพัฒนาโปรแกรมสำหรับบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีที่ต่างจากผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป โดยมีทีมสหวิชาชีพ 5 สาขาทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์และนักกิจกรรมบำบัด ร่วมกันวางแผนฟื้นฟูผู้ป่วยเฉพาะรายเพื่อให้อาการทางจิตหายหรือทุเลา ไม่ก่อคดีซ้ำ และมีระบบติดตามประเมินผลที่มีมาตรฐาน เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลใช้ทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มทดลองใช้ในเร็วๆนี้
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมและเรือนจำกลางจ.นครพนม ดูแลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยทางจิต ตรวจคัดกรองผู้ป่วยในเรือนจำ ในปีนี้พบรายใหม่เฉลี่ยเดือนละ 5 คน
ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท รองลงมาคือมีอาการจากฤทธิ์ยาบ้าเช่น หูแว่ว ประสาทหลอน จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำอยู่ในความดูแลทั้งหมด 65 คน จากผู้ต้องขังที่มีประมาณ 3,000 คน โดยมีระบบติดตามผลการรักษาทุก 3 เดือน และสนับสนุนยารักษาให้กินต่อเนื่อง ผลดำเนินการได้ผลดี
ขณะเดียวกันได้จัดอบรมอาสาสมัครเรือนนอน พยาบาล และผู้คุม ให้รู้จักโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยที่สุดในเรือนจำ 6 โรคตามนโยบายของกรมสุขภาพจิต ได้แก่ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย โรคสับสน โรคหลงลืม
และอาการที่เกิดจากการถอนพิษเหล้าในผู้ที่ติดเหล้า รวมทั้งอาการข้างเคียงของยารักษาจิตเวช ช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการดูแลเหมาะสมยิ่งขึ้น ขณะนี้มีอาสาสมัครเรือนนอนทั้งหมด 100 คนทำหน้าที่ติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวช ทั้งการใช้ชีวิต การกินยาภายในเรือนจำทั้งชายและหญิง สำหรับในปี 2560 ตั้งแต่มกราคม –กรกฎาคม มีผู้ต้องขังที่ป่วยโรคทางจิตด้วยพ้นโทษจำนวน 25 คน ซึ่งทุกคนจะได้รับการส่งดูแลต่อในชุมชน