โรคภัยกับต่อมน้ำเหลือง การแสดงออกของร่างกายที่ต้องหันมาใส่ใจ เพราะนับวัน โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมน้ำเหลืองมีมากขึ้น จนหลายคนต้องหันมาใส่ใจ เพราะสิ่งที่ต่อมน้ำเหลืองฟ้องออกมา ทําให้ดูน่ากังวลใจ คือการโตของต่อมน้ำเหลืองแทรกผิวหนังออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และวัณโรคต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น

 

โรคภัยกับต่อมน้ำเหลือง
ภาพจาก verywellhealth.com

 

โรคภัยกับต่อมน้ำเหลือง การแสดงออกของร่างกายที่ต้องหันมาใส่ใจ

ต่อมน้ำเหลือง คืออวัยวะสําคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในการต่อต้านการติดเชื้อ ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจน คงเหมือนป้อมยามที่จะดักจับสิ่งแปลกปลอมต่างๆ หรือเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกัน ก็สร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ต่อมน้ำเหลืองมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ วางเรียงตัวขนานไปกับเส้นเลือด และจะมีท่อทางเดินน้ำเหลืองวางขนานกันตามไปด้วย เมื่ออยู่ในภาวะปกติ อาจคลําไม่พบ ทั้งที่กระจายอยู่ทั่วทุกอวัยวะ ยกเว้นในเนื้อสมอง และบางจุดที่เป็นเนื้อเยื่อไปแทรก เช่น ลําไส้ใหญ่ และลําไส้เล็กส่วนปลาย

โรคที่เกิดขึ้น มีอยู่ 2 สาเหตุหลัก คือการเกิดโรคที่ต่อมน้ำเหลืองเอง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, เนื้องอกต่อมน้ำเหลืองบางชนิด, ต่อมน้ำเหลืองอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น หรือโรคที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งอวัยวะใกล้เคียง หรือการติดเชื้อที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น

 

โรคภัยกับต่อมน้ำเหลือง
ภาพจาก verywellhealth.com

 

กลุ่มการติดเชื้อ
ไวรัส กรณีการติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อไวรัสหวัด เพราะเยื่อบุโพรงจมูก มีเชื้อไวรัสหวัดลุกลามเข้ามาจากการหายใจเข้าไป เม็ดเลือดขาวบริเวณนั้น จะทําลายเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันก็เดินทางไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง เพื่อส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาวในต่อมน้ำเหลืองได้ทราบว่า มีการติดเชื้อและได้สร้างภูมิคุ้มกันออกมา เพื่อทําลายเชื้อ และบางส่วนของเชื้อไวรัส ก็มีการกระจายเข้าไปในกระแสเลือด จึงมีการติดเชื้อไวรัสในกระแสเลือด มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ดังนั้น จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของต่อมน้ำเหลืองต่อการอักเสบ นั่นคือการมีขนาดที่โตขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย

แบคทีเรีย
ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายคนอาจเคยเป็นฝีที่ขา หรือมีแผลติดเชื้อที่ขา ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อมีแผลมีการติดเชื้อ ก็มีการอักเสบ มีการลุกลามที่เนื้อเยื่อข้างเคียง ร่างกายก็ตอบสนองโดยการส่งเม็ดเลือดขาวมาทําหน้าที่ทําลายแบคทีเรีย แต่บางส่วนของแบคทีเรียก็จะกระจายไปที่ท่อทางเดิน น้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง ส่งผลต่อต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง เช่น เป็นฝีที่ขา เชื้อแบคทีเรียจะเดินทางไปตามท่อน้ำเหลือง ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ หรือที่คนโบราณว่า ไข่ดัน ทําให้ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณดังกล่าวโตขึ้นได้ หรือที่เราเรียกกันว่า ไข่ต้นโต ซึ่งเป็นการตอบสนองการอักเสบของการติดเชื้อ แบคทีเรีย มักจะเป็นแบบเฉพาะจุดยกเว้น การติดเชื้อเรื้อรัง อาจจะมีต่อมน้ำเหลืองโตหลายที่ได้ ยกเว้นในสมอง

 

โรคภัยกับต่อมน้ำเหลือง
ภาพจาก verywellhealth.com

 

เชื้อรา
มักมีการติดเชื้อเฉพาะจุด เช่นเดียวกับแบคทีเรีย ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรถูกหนามกุหลาบตําที่เท้า มีการปนเปื้อนเชื้อราบางชนิด ทําให้เกิดฝีหนอง แต่ด้วยเพราะเชื้อรามีขนาดใหญ่กว่าไวรัส และแบคทีเรียมาก ทําให้ตัวเชื้อราเอง เดินทางไปไม่ได้ไกล จึงมักจะเป็นการอักเสบเฉพาะที่ ต่อมน้ำเหลืองจึงโตเฉพาะที่

ในกระบวนการทํางานของร่างกาย จะเห็นว่าเม็ดเลือดขาวจะทําหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวต่างชนิดกัน เช่น เม็ดเลือดขาวที่ทําลายเชื้อไวรัส โดยการสร้างสารไปทําลายไวรัส เรียกว่า เม็ดเลือดขาวชนิดน้ำเหลือง (Lymphocyte) กรณีการติดเชื้อแบคทีเรีย ร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาเก็บแบคทีเรียกิน มักจะเป็นเม็ดเลือดขาวที่มีหลายนิวเคลียสที่ชื่อว่า นิวโทรฟิล (Neutrophil) หรือเม็ดเลือดขาวที่มีนิวเคลียสเดียวที่ชื่อว่า โมโนไซท์ (Monocyte) หรือแมคโครฟาส (Macrophage)

 

โรคที่พบได้ในต่อมน้ำเหลือง

โรคภัยกับต่อมน้ำเหลือง
ภาพจาก vectorstock.com

 

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน
มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะมาจากการอักเสบในบริเวณอวัยวะใกล้เคียง ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการต่อมน้ำเหลืองโต กดเจ็บ มักจะมีไข้ร่วมด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวในต่อมน้ำเหลือง ที่มีการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง อีกกรณีคือเป็นมะเร็งจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งเต้านม แล้วกระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง ผ่านท่อทางเดินน้ำเหลือง โดยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งเป็น 4 ระยะคือ

  • ระยะที่ 1
    โรคอยู่ในต่อมน้ำเหลือง ตําแหน่งเดียว
  • ระยะที่ 2
    ต่อมน้ำเหลืองโตตั้งแต่สองตําแหน่งขึ้นไป เช่น คอด้านซ้าย ร่วมกับในทรวงอก
  • ระยะที่ 3
    พบโรคได้ทั้งเหนือและใต้กระบังลม เช่น มีต่อมต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ ร่วมกับที่ขาหนีบ
  • ระยะที่ 4
    จะกระจายออกนอกระบบน้ำเหลือง เช่น ไปที่ไขกระดูก ผิวหนัง ปอด สมอง เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะทําการตรวจวินิจฉัย ด้วยการตัดเอาชิ้นเนื่อต่อมน้ำเหลืองที่โตไปตรวจทางพยาธิวิทยา

 

ภาพจาก jcvi.org

 

วัณโรคต่อมน้ำเหลือง
เกิดจากการติดเชื้อ มัยโคแบคทีเรีย (Mycobacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีวิวัฒนาการโครงสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ให้มีกรดไขมันมากขึ้น เมื่อเทียบกับแบคทีเรียปกติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกัน โดยเอนไซม์ของเม็ดเลือดขาวที่ใช้ย่อยทําลายเชื้อ เวลาที่เม็ดเลือดขาวเก็บกินเชื้อ สามารถย่อยทําลายเชื้อได้ยาก เมื่อย่อยทําลายไม่ได้ ทําให้เชื้อวัณโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ ทําให้เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อนั้น เดินทางไปที่ต่อมน้ำเหลือง และ เกิดการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองได้ ซึ่งเชื้อจะมีการแบ่งตัวอย่างช้าๆ ต่อมาจึงเกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองได้
ลักษณะอาการ จะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอคล้ายกับฝี ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น แรกๆ ไม่ค่อยมีอาการเจ็บปวด แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทําให้แตกเป็นหนอง จนทําให้เป็นแผลเรื้อรัง หายช้า รักษายาก

แนวทางการวินิจฉัย
แพทย์จะนําชิ้นเนื้อหรือหนอง ไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งถ้าตรวจพบ ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อวัณโรค นานประมาณ 9 – 12 เดือน

 

ภาพจาก jcdr.net

 

โรคคิคูชิ
เกิดจากการผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองเอง แม้ว่าเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่อาจสร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วยได้ เพราะโรคนี้ เป็นโรคกึ่งๆ ความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน คล้ายแพ้ภูมิตนเอง คือภูมิคุ้มกันของเรามาทําลายเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองของเราเอง ทําให้เซลล์ต่อมน้ำเหลืองบางส่วนตายไป ลักษณะที่แสดงออกจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือมีการบวมโตที่ต่อมน้ำเหลืองได้ ทั้งนี้ แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูด หรือผ่าเอาต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ โดยแพทย์ต้องวินิจฉัย แยกโรคกับสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เพราะการติดเชื้อต้องใช้ยาในการรักษาคนละแบบ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ร่วมด้วย อุณหภูมิขึ้นสูง ปวดศีรษะ น้ำหนักลด โรคนี้ใช้ยากดภูมิจําพวกสเตียรอยด์ในการรักษา

ผู้ป่วยสํารวจตัวเองได้อย่างไร?
ต่อมน้ำเหลืองกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย เราสามารถสํารวจตัวเองได้ง่าย ๆ เช่น เวลาอาบน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่หาต่อมน้ำเหลืองได้ง่ายๆ เช่น ใต้รักแร้ ลําคอ ขาหนีบ หากมีก้อนนูนขึ้นผิดปกติ ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะในบางครั้ง บางโรคอาจไม่ได้มาร่วมกับอาการไข้ก็ได้

แนวทางการวินิจฉัย
กรณีที่ต่อมน้ำเหลืองโต ต้องมาดูว่าเกิดการอักเสบหรือไม่ หากโตช้าๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจจะเป็นกรณีติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค หรือเชื้อราบางชนิด หรือมะเร็ง ต้องดูลักษณะก้อนที่เปลี่ยนไป เช่น ก้อนแข็งๆ ก็นึกถึงมะเร็ง หรือคลําดูแล้ว นิ่มเหมือนมีหนอง ก็วินิจฉัยถึงการติดเชื้อมากกว่า อาจมาพร้อมกับ อาการไข้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจหาสาเหตุให้ละเอียดแน่ชัดมากยิ่งขึ้น

…………………………………………………………………………….

ลักษณะการโตของต่อมน้ำเหลืองในแต่ละโรค อาจจะมีลักษณะคล้ายกัน ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวไปข้างต้น คอย่านิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์ เพื่อเร่งหาสาเหตุ และวิธีการรักษา ก่อนที่โรคเหล่านั้นจะลุกลาม คร่าชีวิตคุณ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ