ในปัจจุบันโรคหูหนวกมีวิวัฒนาการทางการรักษามากแตกต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โรคหูน้ำหนวกที่หูหนวกเพราะไม่ได้รักษาหรือรักษาแล้วแต่หูไม่ได้ยินเนื่องจากประสาทหูเสื่อม ต้องใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อขยายเสียง ให้ได้ยินมากขึ้น แต่บางคนใช้เครื่องช่วยแล้วยังไม่ได้ยิน ก็จะใช้ภาษามือหรือการอ่านปาก ซึ่งทำให้เสียงที่จะพูดนั้นเพี้ยนไปเพราะฟังไม่ได้ยินนั่นเอง
หากสงสัยว่าหูฟังเสียงไม่ค่อยได้ยิน ต้องตะโกนเรียก หรือว่าเรียกแล้วไม่หัน ก็ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางโรคหูเพื่อจะได้ตรวจว่าอาการดังกล่าวนั้นเป็นโรคของหูชั้นนอก ชั้นกลาง หรือชั้นใน หรือเพราะประสาทหูเสื่อม หากเป็นโรคของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางก็อาจรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดทำให้หูแห้งได้ไม่ยาก
ปัจจุบันโรคของหูชั้นในหรือประสาทหูเสื่อมพบได้มากขึ้น สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อไวรัสหลังคลอดหรือเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบทำให้ประสาทหูเสื่อมลง บางครั้งเกิดจากความเครียด บางคนอาจใช้เครื่องช่วยฟังได้ผล แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ผลก็ต้องใช้ภาษาใบ้แทน ปัจจุบันมีการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมในคนที่หูหนวกหรือประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรงทั้งสองข้างเพื่อให้ได้ยินเหมือนเดิมได้แล้ว
การพัฒนาประสาทหูเทียมนั้นเริ่มต้นมากว่า 30 ปีแล้วที่ประเทศออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับการรักษาประสาทหูเสื่อมเป็นรายแรกในปี 1995 ซึ่งคนไข้ดังกล่าว หูหนวกจากการทำงานในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน หลังจากได้รับการผ่าตัดใช้ประสาทหูเทียมเขาสามารถกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม อีกกรณีหนึ่งคือ เด็กชายอายุ 5 ขวบที่หูหนวกทั้ง 2 ข้างจากโรคเยื่อสมองอักเสบ ภายหลังการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม เด็กคนนี้สามารถกลับไปเรียนหนังสือได้ปกติ
ประสาทหูเทียมเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทำด้วยสายไฟขนาดเล็กที่มีการรับเสียงและแปรเสียง แล้วส่งสัญญาณเข้าไปกระตุ้นประสาทการได้ยินเข้าสู่สมอง ทำให้สามารถแปลเสียงนั้นออกมาได้ ประสาทหูเทียมจะถูกฝังเข้าไปในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในหูชั้นใน โดยการผ่าตัดหลังหู กรอเอากระดูกหลังหูออก และทำการฝังเครื่องไว้หลังหูด้านนอกกะโหลกศีรษะ แล้วต่อกับเครื่องภายนอกด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้กระตุ้นเสียงเข้าข้างในทำให้หูกลับมาได้ยินเหมือนปกติ
อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กที่ประสาทหูพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากประสาทหูเทียมมีราคาสูงมาก