เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “รามาธิบดี กับความสำเร็จหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย” ว่า รพ.รามาฯได้ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยการรักษามาตลอด โดยเทคโนโลยีที่สำคัญคือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่ง มีหุ่นยนต์ดาวินซีผ่าตัดต่อมลูกหมาก และมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุดรามาฯ มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ เป็นการผ่าตัดช่วยยึดกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ และแก้กระดูกสันหลังที่คดงอ ขาดความแข็งแรง จะร่นระยะเวลาผ่าตัดลง และเกิดผลดีต่อผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
“ปัญหาคือ เทคโนโลยีนี้ยังไม่ได้อยู่ในสิทธิรักษาฟรี แต่ในอนาคตจะมีโครงการเพื่อช่วยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษา โดยจะเป็นการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย แต่ขณะนี้ก็มีมูลนิธิรามาธิบดีในการช่วยเหลืออยู่ โดยมูลนิธิฯก็ช่วยจัดซื้อหุ่นยนต์ และจากเงินบริจาค โดยรวมสูงกว่า 40 ล้านบาท” คณบดีรามาฯ กล่าว และว่า สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษา ทางรพ.จะมีการประเมินและบอกค่าใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายส่วนต่างได้ ก็จะช่วยเหลือผ่านมูลนิธิรามาธิบดี ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดไปแล้ว 5 ราย
ศ.นพ.วชิร คชการ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การผ่าตัดด้านประสาทศัลยศาสตร์ จำเป็นต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ และความแม่นยำของศัลยแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัลยแพทย์ที่ต้องผ่าตัดผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวจะเป็นเหมือนแขนกลในการช่วยผ่าตัดให้มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งระยะแรกจะเน้นการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีนี้ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ชอกช้ำน้อยมาก
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าว ว่า การผ่าตัดโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังมีอัตราเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลัง ซึ่งปัจจุบันจะพบมากในผู้สูงอายุ
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าวว่า หุ่นยนต์ดังกล่าว เรียกว่า หุ่นยนต์เรเนซอง (Renaissance Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาและสร้างขึ้นในประเทศอิสราเอล ซึ่งได้รับการยอมรับจาก USFDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) ตั้งแต่ปี 2549 หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยประสาทศัลยแพทย์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและสมอง โดยการนำมาใช้ประโยชน์ในระยะแรกจะเป็นการกำหนดเป้าและทิศทางการเดินทางของสกรูเพื่อการยึดตรึงกระดูกสันหลังเพื่อความแข็งแรง ไม่เคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น
“การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เบื้องต้นจะรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกสันหลังก่อน จากนั้นจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การผ่าตัดสมอง โดยผู้ป่วยกระดูกสันหลังที่จำเป็นต้องผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์กนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ต้องยึดกระดูกสันหลังด้วยสกรู เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งหากเป็นการผ่าตัดด้วยมนุษย์เพียงอย่างเดียว เมื่อหมุนสกรู ในเรื่องของความแม่นยำหรือความแข็งแรงในการหมุนสกรูอาจมีความเสี่ยงพลาดประมาณ 10-40% และใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมงในการผ่าตัด แต่หากมีหุ่นยนต์ช่วยจะมีความแม่นยำถึง 99% และใช้เวลาเพียง 10-20 นาที หุ่นยนต์ดังกล่าวจึงเป็นอีกเทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น” ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าว