เนื้อหาโดย Dodeden.com

เคยสังเกตตัวเองบ้างมั้ยว่า วันๆ หนึ่งคุณใช้เวลาก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตยาวนานแค่ไหน หรือกระทั่งนั่งทํางานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานกี่ชั่วโมง? จริงอยู่ที่การใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ เหล่านี้มักทําให้เกิดความเพลิดเพลินและติดพัน จนอาจลืมคิดไปว่าเราใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไป ส่งผลให้ร่างกายมีสัญญาณเตือนบางอย่าง เช่น รู้สึกแสบตา ปวดล้าดวงตา ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการต่างๆ เหล่านี้ว่า “Computer Vision Syndrome” หรือ CVS

โดยมักพบในผู้ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง สําหรับหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยสุดในกลุ่ม CVS คือภาวะตาแห้ง เนื่องจากใช้สายตามากเกินไป ทําให้อัตราการกะพริบตาลดลง ซึ่งโดยเฉลี่ยคนปกติทั่วๆ ไปจะกะพริบตาประมาณ 12-17 ครั้งต่อนาที เพื่อให้น้ำตาเข้าไปเคลือบกระจกตา แต่เมื่อมีการจ้องหรือเพ่งอะไรนานๆ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต อัตราการกะพริบตาจะลดลงเหลือประมาณ 4-5 ครั้งต่อนาที จึงทําให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่าย

อาการเริ่มแรกที่เป็นคือแสบตาและ รู้สึกว่าตาล้า มีการกระพริบหรือหรี่ตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเข้าไปเคลือบตาได้ดีขึ้น ส่วนอีกอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยคืออาการปวดกล้ามเนื้อตาเนื่องจากเมื่อเราเพ่งหรือโฟกัสอยู่หน้าจอ หรือแม้แต่การอ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อตาจะเกร็งเพื่อการมองในระยะใกล้ และเมื่อมีการเกร็งนานๆ จนถึงจุดหนึ่ง จะเกิดอาการล้า มึนๆ ปวดกล้ามเนื้อตาหรือบริเวณรอบๆ กระบอกตา โดยทั้งสองอาการนี้ เรามักจะมองเห็นภาพในระยะไกลไม่ชัดในช่วงแรก เนื่องจากว่ากล้ามเนื้อตาถูกเพ่งในระยะใกล้มาก พอเราเงยหน้าปุ๊บ จุดโฟกัสยังไม่เปลี่ยน ทําให้การมองไกลเป็นภาพเบลอ สักพักเมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว เราจึงเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น อาการทั้งหมดเหล่านี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณใช้สายตามากเกินไป

แม้ CVS จะไม่ได้จัดว่าเป็นโรค แต่จากอาการที่กล่าวมาอาจส่งผลต่อสุขภาพดวงตาได้ โดยพฤติกรรมของคนในยุคนี้ มีแนวโน้มเสพติดหน้าจอเพิ่มสูงขึ้นและยาวนานกว่าเดิม จากข้อมูลของสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) ได้สํารวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 2559 พบว่า 82.1% ของคนไทยใช้สมาร์ทโฟนในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 5.7 ชม. ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเฉลี่ยวันละ 5.4 ชม. ใช้คอมพิวเตอร์พกพาเฉลี่ยวันละ 5 ชม. และ 21.1% ใช้แท็บเล็ตเฉลี่ยวันละ 3.8 ชั่วโมง โดยกิจกรรมที่ถูกใช้งานมากที่สุดผ่านอินเทอร์เน็ตก็คือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีจํานวนชั่วโมงที่ใช้ต่อวันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

การใช้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็เหมือนกับการออกกําลังต่อเนื่องแล้วไม่ได้หยุดพัก กล้ามเนื้อก็จะเกิดอาการล้า โดยทั่วไป เรามักแนะนําให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของตัวเองก่อน แม้จะมีอาการหรือไม่มีอาการเลยก็ตาม เช่น พักสายตาเป็นระยะ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นสมาร์ตโฟน ปกติไม่ควรเกิน 30-45 นาที การพักสายตาหมายถึงต้องหยุดพักจริงๆ โดยเปลี่ยนจากจุดโฟกัสตรงหน้า แล้วพยายามมองไปในระยะไกล เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้คลายตัว และเพื่อให้มีการกะพริบตามากขึ้น ควรหยอดน้ำตาเทียมบ้าง หรือเปลี่ยนไปทํากิจกรรมอย่างอื่น 2-3 นาที แล้วจึงค่อยกลับมาใช้สายตาใหม่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการ CVS ไม่ได้เป็นสาเหตุที่จะนําไปสู่การเกิดต้อหรือโรคตาที่รุนแรงแต่อย่างใด เป็นเพียงการดูแลสุขภาพดวงตาให้ดีเท่านั้น เพราะหากสุขภาพตาไม่แข็งแรง อาการเสื่อมของดวงตาก็มักเกิดขึ้นเร็ว และทําให้โรคบางชนิด เช่น โรคต้อกระจก อาจมาเร็วขึ้นในบางราย

แสงจอมือถืออันตรายมาก
เคยสงสัยมั้ยว่า เหตุใดเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความมืดมิด แล้วพอเปิดไฟสว่างจ้าเราจึงรู้สึกแสบตา และต้องหรี่ตาให้เล็กลง กว่าจะลืมตาได้เป็นปกติก็ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ นั่นเป็นเพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ไวต่อการรับแสงจากภายนอกได้รวดเร็วมาก ด้วยเหตุนี้เอง การสวมแว่นตากันแดดในเวลากลางวันจึงเป็นสิ่งจําเป็น ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยกรองแสงแดดและป้องกันรังสี UV จากพระอาทิตย์ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตา ในแสงแดดมีทั้งแสงและรังสี แสงที่เรามองเห็นด้วยตา (Invisible Light) มีทั้งหมด 7 สีคือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ส่วนแสงที่ไม่มีสี (Non Visible Light) หมายถึงรังสี เช่น ยูวี อินฟราเรด ซึ่งรังสีพวกนี้ไม่ดีทั้งต่อดวงตาและสุขภาพร่างกาย เพราะยูวีเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เกิดการอักเสบ

แล้วการดูจอมือถือในเวลากลางคืนล่ะ มีผลร้ายต่อดวงตาเราหรือไม่?
ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพตาอย่างแน่นอน เนื่องจากแสงสีฟ้าจากภายนอกที่เราได้รับในตอนกลางวันนั้น มีส่วนกระตุ้นฮอร์โมนบางอย่างในร่างกายให้มีการทํางาน ซึ่งหากเราได้รับแสงเหล่านี้จากหน้าจอในเวลากลางคืน ย่อมมีส่วนไปกระตุ้นระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทําให้ร่างกายเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตอนกลางวัน

เพราะฉะนั้น ก่อนนอนประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จึงไม่ควรใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสาร โดยเฉพาะเมื่อปิดไฟห้อง แสงจะยิ่งมีปริมาณมาก ทำให้วงจรการนอนหลับ (Sleep Cycle) ถูกรบกวน เนื่องจากวงจรการนอนหลับของคนเราต้องมีระดับฮอร์โมนบางอย่างที่เหมาะสมด้วย ถึงจะนอนหลับได้สนิท

 

เรื่องน่าสนใจ