เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม
ภาพประกอบจาก thaihealth
จากกรณีที่มีข่าวเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชื่อดังใน อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ติดเชื้อวัณโรคปอดอย่างรุนแรงโดยมารดาของเด็กระบุว่า
ลูกสาวชอบเล่นและคลุกคลีกับสุนัขนับ 10 ตัว และขนสุนัขได้เข้าไปลมหายใจของลูกสาวจนอาการกำเริบและเสียชีวิตนั้น อาจทำให้คนรักสัตว์และคนที่คลุกคลีกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข และแมวอาจจะไม่สบายใจ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ระบบทางเดินหายใจ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้ เพราะร่างกายมีระบบป้องกันสิ่งแปลกปลอม บริเวณจมูกมีทั้งขนจมูก และเมือกคอยจับเอาไว้ แม้จะเข้าไปในร่างกาย แต่ร่างกายก็สามารถที่จะไอขับออกมาได้
ทั้งนี้เคยส่องกล้องเข้าไปในปอดคนไข้นับพันคน ไม่เคยเห็นขนอะไร หรือ เส้นผมในปอด ที่เห็นสิ่งแปลกปลอม คือ เศษอาหาร เศษหมูหยอง เมล็ดผลไม้
ซึ่งเกิดจากการสำลักเวลากลืนอาหาร โดยเฉพาะคนแก่ เห็นคนที่เอาปากคาบตะปูเอาไว้ เผลอพูดแล้วหลุดเข้าไปในหลอดลม ต้องส่องกล้องและใช้คีมคีบออกมาที่ผ่านมาไม่เคยเห็นผม หรือขนสักเส้นหนึ่ง
ในต่างประเทศก็ไม่มีรายงานเรื่องนี้ แม้แต่คนต่างชาติเลี้ยงสุนัขเยอะมากก็ไม่เคยเห็นขนสุนัขในปอด ส่วนตัวอยู่ต่างประเทศเป็นสิบ ๆ ปีไม่เคยเห็นเลย
เพราะอย่างที่บอกร่างกายของคนเรามีกลไกในการปกป้องตัวเอง ที่จะเข้าไปง่าย ๆ คือขน หรือผมของคน แต่ก็ไม่เคยเห็นเช่นกัน การเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ การฉายรังสีจะไม่สามารถมองเห็นขนหรือผมได้ จะต้องเอากล้องเข้าไปดูอย่างเดียว
ดังนั้นคงต้องดูว่ารู้ได้อย่างไรว่ามีขนอยู่ในปอด เพราะการจะรู้ได้ต้องใช้กล้องส่องเข้าไปดูเท่านั้น
ในเด็กกลไกการป้องกันจะแข็งแรงมาก กลไกร่างกายจะเข้มแข็งมาก ส่วนใหญ่คนแก่มักจะสำลักเวลากลืนอาหารส่วนการติดเชื้อวัณโรคจากสุนัขก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะวัณโรคคนไม่ได้ติดจากสุนัข
แต่ติดจากคนสู่คน/มีสัตว์บางชนิดที่มีวัณโรค เช่น ช้าง เสือ ยีราฟ สมเสร็จ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ติดวัณโรคจากคนเช่นกัน กรณีของแมวและสุนัข
อยากฝากว่าไม่มีอะไรน่ากลัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนเลี้ยงสุนัข และแมว คือ ภูมิแพ้มากกว่า ซึ่งเป็นการแพ้น้ำลายของสัตว์
เนื่องจากสุนัขและแมวจะเลียขนของตัวเอง ร่างกายคนเราจะแพ้น้ำลายที่ติดมากับขน เวลาไปสัมผัสจมูกจะเกิดอาการคัดจมูก มีอาการจาม ไอเรื้อรัง แต่คนที่ไม่แพ้ก็อยู่ได้ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีอะไรน่ากลัว
สรุปขนสัตว์ไม่ว่าจะเป็นขนสุนัข หรือแมว ไม่น่าจะหลุดเข้าไปในปอดของคนเราได้ ดังนั้นคนที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุ