ไขมันในช่องท้อง สาเหตุของพุงที่ยื่น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดสมอง เพราะเป็นไขมันที่ไม่ได้นอนนิ่งเฉยๆ แต่กลับผลิตสารก่อการอักเสบในระดับโมเลกุล
ไขมันในช่องท้อง

ไขมันในช่องท้อง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

ไขมันในช่องท้องที่เรียกว่า Visceral Fat  คือไขมันที่กองอยู่ในช่องท้อง สังเกตเห็นได้ว่ามีหรือไม่ จากขนาดของพุงหรือรอบเอว แต่ไม่สามารถหยิบจับสัมผัสได้ ต่างกับ Subcutaneous Fat หรือไขมันใต้ชั้นผิว ที่เราสามารถจับหนีบขึ้นมาดูได้
ไขมันในช่องท้อง
ภาพจาก randox.com
ไขมันในช่องท้อง จะประเมินได้จากการวัดรอบเอว สูตรทั่วไปคือ ในผู้ชายไม่ควรจะเกิน 90 ซม. ส่วนในผู้หญิงไม่ควรจะเกิน 80 ซม. หรือจะใช้สูตรนำส่วนสูงมาหารสอง ถ้ารอบเอวเกินกว่าค่าที่ได้ จะจัดว่ามีพุงค่ะ ซึ่งไขมันในช่องท้องนั้น มีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะเป็นไขมันที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดสมอง เพราะเป็นไขมันที่ไม่ได้นอนนิ่งเฉยๆ แต่กลับผลิตสารก่อการอักเสบในระดับโมเลกุล เช่น IL-6, TNF-alpha และอื่นๆ จึงส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ
จุดก่อกำเนิดหลักของพุงนั้น เกิดจากแคลอรี่จากอาหารที่มากเกินพอดี โดยเฉพาะแคลอรี่จากแอลกอฮอล์ น้ำตาล และไขมันทรานส์ ที่ส่งผลต่อการสะสมของไขมันที่พุง บวกกับปัจจัยเสริมคือ อายุที่มากขึ้น เพศชาย(จะลงพุงง่ายกว่าหญิง) ฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนเครียดที่ส่งผลให้ไขมันไปสะสมที่พุงง่ายขึ้น มีความเชื่อผิดๆ ว่า การลดพุงนั้นมีทางลัด เช่น วิตามินหรืออาหารเสริม ทำดีท็อกซ์ เกร็งหน้าท้องบ่อยๆ ไม่พบว่าวิธีเหล่านี้ช่วยลดไขมันในช่องท้องด้วย ส่วนการดูดไขมันนั้น จะเป็นการดูดไขมันที่ชั้นผิว ไม่ได้ดูดเข้าไปในช่องท้องแต่อย่างใด
ไขมันในช่องท้อง

วิธีที่ถูกต้องในการบอกลาพุง 

  • ปรับการทานอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย
    พยายามเลี่ยงอาหารก่อพุง โดยเฉพาะ น้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม แป้งขัดขาว แอลกอฮอล์ อาหารทอด หากเลี่ยงไม่ได้ให้พยายามลด หรือหาข้อตกลงกับตัวเองที่พอจะทำได้ เช่น เปลี่ยนจากดื่มเบียร์ปกติ เป็นไลท์เบียร์ หรือ ตั้งลิมิทในการทานของหวานให้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ไขมันในช่องท้อง

  • การออกกำลังที่มีส่วนช่วยลดพุง
    คือ การออกกำลังแบบแอโรบิก หรือ การออกกำลังที่มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน พอที่จะเกิดการเผาผลาญ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ จักรยาน โดยควรตั้งเป้าการออกให้ได้ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนการซิทอัพที่หลายคนเข้าใจว่าช่วยลดพุงนั้น จริงๆแล้วแค่เป็นการเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อท้อง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการเผาผลาญของไขมันในช่องท้อง
  • ปรับสมดุลชีวิตให้ไม่เครียดเกินไป
    และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเครียดเรื้อรังและการอดหลับอดนอน จะส่งผลให้ฮอร์โมนเครียดสูง ซึ่งฮอร์โมนเครียดนี้จะส่งผลต่อการสะสมของไขมันในช่องท้อง
ส่วนวิตามินหรืออาหารเสริมต่างๆ นั้น ยังไม่พบว่ามีตัวไหนที่เป็นยาวิเศษที่กินแล้วพุงยุบได้ ลองตั้งเป้าง่ายๆ ที่การลดพุง วัดรอบเอวในปัจจุบัน และค่อยๆ ปรับไลฟ์สไตล์ น้องพุงจะค่อยๆ จากลาไป ความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ จะลดลง และสุขภาพจะดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

เนื้อหาโดย Dodeden.com

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

เรื่องน่าสนใจ