ไขมันจากปลาทะเลช่วยป้องกันโรคอะไรบ้าง?

9028253_s

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสุขภาพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการบริโภค ทำให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง น้ำมันปลาจึงถูกนำมาใช้ในการช่วยลดระดับไขมันชนิดนี้

นอกจากกรดไขมันโออาก้า-3 ในน้ำมันปลามีคุณสมบัติในการลดการจับตัวของเกล็ดเลือดและสร้างสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัวได้ดี จึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้จากการศึกษาวิจัยพบว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ในสัตว์น้ำทุกชนิดมีปริมาณสูงกว่าในสัตว์บกและสัตว์ปีก

โดยทั่วไปในเนื้อปลามีโปรตีนประมาณร้อยละ 17-23 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงทำให้ระบบการย่อยอาหารของเราไม่ต้องทำงาน หนัก ปลาเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เราจัดปลาไว้ในอาหารหลักหมู่ที่หนึ่งในประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่วโปรตีนในเนื้อปลาจะถูกนำไปใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย

ไขมันจากเนื้อปลาทะเลมีองค์ประกอบแตกต่างจากน้ำมันพืชทั่วไป คือ ไขมันจากปลาทะเลจะมีกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะกรดไขมันประเภทโอเมก้า-3 ซึ่งมีอยู่ปริมาณมาก กรดไขมันที่สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่กรด โดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic Acid : DHA) และกรดไอโคซาเพนทาอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid : EPA)

เนื้อเยื่อของปลามีน้ำมันหรือไขมันแตกต่างจากไขมันสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากอาหารของปลา คือแพลงตอนและสาหร่าย ซึ่งหลายชนิดสามารถสังเคราะห์ไขมันกลุ่มโอเมก้า- 3 ได้ นอกจากนี้เมตาบอลิซึ่มของปลาเองก็มีส่วนมากในการสร้างเสริมและรักษากรดไขมันเหล่านี้ไว้ ปลาทะเลที่มีมันมาก เช่น ปลาแซลมอล ปลาแมคเคอเรล ปลาเทราท์ ปลาทูน่า มีไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 สูงถึง 1 – 4 กรัม/เนื้อปลา 100กรัม

ปลาทะเลจะมีโอเมก้า- 3 มากกว่าปลาน้ำจืด เพราะแพลงตอนและสาหร่ายในน้ำจืดสังเคราะห์โอเมก้า- 3 ได้น้อยกว่าแพลงตอนและสาหร่ายในน้ำเค็ม นอกจากอาหารของปลาจะเป็นตัวส่งเสริมให้ปลาสร้างโอเมก้า-3 แล้ว กระบวนการเผาผลาญอาหารของปลายังเป็นกระบวนการที่สามารถรักษาคุณค่าของโอเมก้า-3 ที่ร่างกายผลิตขึ้นมาได้อย่างดีอีกด้วย

น้ำมันปลาเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากส่วนหัวหรือเนื้อปลาทะเลและจะมีปริมาณ DHA และ EPA แตกต่างกันไปตามชนิดของเนื้อปลา โดยพบว่าในจำนวนมิลลิกรัม/100 กรัม ปลาแซลมอน มีปริมาณ DHA 748 มิลลิกรัม และ EPA 492 มิลลิกรัม

ความสำคัญของโอเมก้า-3 อยู่ที่กรดไขมันที่ชื่อ EPA และ DHA เพราะ EPA มีคุณสมบัติในการลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด ทำให้เลือดมีการแข็งตัวช้าลง จึงช่วยลดการเกาะตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือดได้

คุณประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า-3

ปลามีไขมันต่ำและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือที่เรียกว่าโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายซึ่งเราไม่สามารถสร้างเองได้ นอกจากกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีอยู่ในปลาช่วยป้องกันการสะสมตัวของไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอลอันเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดอุดตัน ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตกได้ กรดไขมันโอเมก้า-3 ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากได้แก่

ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ

จากการวิจัยในปี 1998 พบว่าการบริโภคปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจลงได้ นอกจากนั้น จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยโอเรกอนยังระบุว่าในไขมันปลามีกรดไขมันอีพีเอ (EPA) ซึ่งเป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 ที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดและลดระดับไตรกลีเซอไรด์ลงได้ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเช่นกัน
บำรุงสมอง

ผลวิจัยจากสหรัฐอเมริกาพบว่ากรดไขมันดีเอชเอ (DHA) ในโอเมก้า- 3 มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในส่วนของความจำและการเรียนรู้
บรรเทาอาหารของโรคไขข้ออักเสบ

จากการวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าน้ำมันปลาช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบจนสามารถลดการใช้ยาบางส่วนลงได้
ลดการอักเสบของโรคผิวหนัง

การศึกษาวิจัยระบุว่าการกินปลาที่มีไขมันมากจะช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน (หรือโรคเรื้อนกวาง) เพราะปลามีวิตามินดีจากกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณมาก

ช่วยลดความเครียด

มีบางรายงานการวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันปลาว่าสามารถลดความเครียดในผู้ป่วยโรคประสาทที่มักจะอาละวาดทำให้อารมณ์เย็นลงได้

 

บรรเทาอาการซึมเศร้า

การศึกษาหนึ่งของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบว่าการขาด โอเมก้า-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อสมอง อาจเป็นสาเหตุทำให้คนมีอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น และขาดความสามารถในการอ่านหนังสือได้

EPA

กรดไอโคซาเพนทาอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid : EPA) เป็นกรดไขมันที่มีคุณสมบัติลดการสร้างลิโปโปรตีนในตับและลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในกระแสโลหิต จึงป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ไม่สามารถหาได้จากไขมันในเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ผลของการศึกษาพบว่าปลาต่างๆ ทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืดมีองค์ประกอบของอีพีเอสูง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของไขมัน0.15-10 เมื่อเปรียบเทียบการวิเคราะห์หาปริมาณของอีพีเอในอาหารหมู่เดียวกัน ไม่พบว่ามีในไข่ไก่ทั้งฟอง และไข่แดง แต่ในไข่ขาวพบ0.96% และไม่พบในน้ำนมวัวและถั่วเหลือง จากสถิติขององค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (United Nations I God and Agriculture Organization) นอกจากนี้ มูลนิธิโรคหัวใจแห่ง อังกฤษ (The British Heart Foundation) รายงานว่าชาวญี่ปุ่นบริโภคปลามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งสูงถึง 73 ก.ก./คน/ปี มีอัตราการตายด้วยโรคหัวใจเพียง 100 คน ในประชากร100,000 คน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ชาวอังกฤษบริโภคปลาประมาณ 18 ก.ก./คน/ปี พลเมืองตายด้วยโรคหัวใจสูงถึง 500 คนในประชากร 100,000 คน

DHA

กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic Acid : DHA) สำหรับกรดไขมันดีเอชเอนี้มีส่วนพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “กินปลาแล้วสมองดี” พบว่าสารดีเอชเอในผนังเซลล์ทั่วร่างกาย ช่วยทำให้เซลล์มีความไวต่อการรับสัญญาณประสาท นอกจากนั้น ยังพบว่ามี DHA ปริมาณสูงในจอตา และที่สำคัญที่สุดคือเป็นไขมันที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์สมองถึง 65% และกรดไขมันชนิดนี้เป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่ได้จากอาหารที่บริโภคคือจากปลา สมองมนุษย์มีไขมันชนิดนี้เป็นส่วนประกอบอยู่ครึ่งหนึ่งก่อนกำเนิด ส่วนที่เหลือจะได้มาในช่วงปีแรกของชีวิต เพราะฉะนั้นดีเอชเอจึงมีความสำคัญมากต่อสตรีในระยะตั้งครรภ์ และมารดาในระยะให้นมบุตรที่ช่วยให้สมองทารกพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

รู้หรือไม่ ?

น้ำมันจากเนื้อปลาทะเลแตกต่างจากน้ำมันตับปลา คือ น้ำมันตับปลาเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากตับของปลาทะเลบางชนิด เช่น ปลาค็อด (cod fish) น้ำมันปลาเหล่านี้มีวิตามินเอและวิตามินดีในปริมาณสูง แต่ก็มีกรดไขมันพวกที่มีพันธะคู่ 1 พันธะเป็น
ปริมาณสูงด้วย ซึ่งการบริโภควิตามินเอและวิตามินดีมากเกินไปอาจทำให้เกิดความเป็นพิษจากวิตามินเอและวิตามินดีได้ ซึ่งแตกต่างจากน้ำมันจากปลาทะเลที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเทราท์ ที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณสูงที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ถึงแม้ปลาทุกชนิดจะมีค่าไขมันและพลังงานต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม ชนิดของปลายังมีผลต่อปริมาณไขมันของปลาที่มีอยู่ในเนื้อปลาสดซึ่งผู้บริโภคควรเลือกทานตามความเหมาะสม นักวิจัยและนักโภชนาการแนะนำว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มกรดโอเมก้า-3 ในอาหารคือเพิ่มการรับประทานปลาแทนการรับประทานเนื้อสัตว์บก และการรับประทานปลาทะเล สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้

 

 

ขอบคุณที่มาจาก   http://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=148

 

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ