“โคโคนัท แบงค๊อก”รายงานว่า ไทยได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของกลุ่มประเทศปล่อยพลาสติกลงสู่ทะเลระดับหัวแถวของโลก ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก และจำเป็นจะต้องเร่งแก้พฤติกรรมดังกล่าวอย่างยิ่งยวด
โดยกลุ่ม”โอเชี่ยน คอนเซอเว็นซี่”หน่วยงานเอ็นจีโอ ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐ รายงานว่า ในแต่ละปี ประเมินจะมีการปล่อยพลาสติกลงสู่ท้องทะเลราว 8 ล้านตัน จากจำนวนขยะที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลอยู่แล้วปัจจุบันเป็นจำนวน 150 ล้านตัน โดยขยะพลาสติกกว่าครึ่งนั้นมาจากหลายประเทศของเอเชีย ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย สาเหตุเพราะประเทศหล่านี้มีเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีความต้องการบริโภคสูงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถกำจัดได้อยู่ในสถานการณ์เกินกำลังกว่าที่ประเทศเหล่านี้จะขจัดทำลาย
ขณะที่ขยะพลาสติกเหล่านี้ ที่ถูกทิ้งลงทะเลถือว่าอันตราย เพราะมันจะสลายตัวกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ลอยไปทั่วทะเลเป็นเวลาหลายร้อยปี และยังกระทบต่อสัตว์ทะเลที่คิดว่าเศษพลาสติกเหล่านี้คืออาหารของมัน โดยจะกระทบตั้งแต่สัตว์น้ำเล็กอย่างแพลงก์ตอน ไปจนถึงวาฬ และจะทำลายวงจรอาหารในระบบนิเวศวิทยาท้องทะเล
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาถึงอันตรายของขยะพลาสติกเหล่านี้ต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งโดยคร่าว ๆ แล้วมนุษย์จะได้รับผลกระทบไม่เพียงแต่แค่เศษขยะพลาสติก แต่รวมทั้งมลพิษในท้องทะเลเมื่อมีการดูดกลืนพลาสติกลงไป และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ประเมินว่า ในท้องทะเลทั่วโลกจะมีขยะเป็นจำนวนกว่า 250 ล้านตันก่อนปี 2025 หรือเฉลี่ยเท่ากับจำนวนพลาสติกปริมาณ 1 ตัน ในสัดส่วนเทียบกับจำนวนปลา 3 ตันในท้องทะเล ทั้งนี้ กลุ่มฯได้เรียกร้องให้ไทย และประเทศตัวการปล่อยขยะพลาสติกเหล่านี้ ลดปริมาณการปล่อยพลาสติกลงสู่ท้องทะเลลง 65 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยปล่อยลงอยู่ในทุกวันนี้