เหล่าคนเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ หมาแมวต้องระวัง เพราะโรค “ไรในหู” นั้น เป็นภัยเงียบอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เหล่าสัตว์เลี้ยงที่แสนน่ารักของคุณเจ็บป่วยได้
ไรในหู (Ear mites) เป็นปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวด้านในช่องหูและบริเวณใกล้เคียง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Otodectes cynotis พบได้ทั้งในสุนัขและแมว อาศัยไขมันและเศษผิวหนังเป็นอาหาร มีวงจรชีวิตประมาณ 3 สัปดาห์ เป็นตัวไรที่มีขนาดเล็ก แต่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
ลักษณะเป็นจุดขาว ๆ เคลื่อนไหวได้อยู่บนขี้หู แต่เวลาตรวจจะต้องส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์จึงจะเห็นตัวได้อย่างชัดเจน สามารถติดได้ง่ายผ่านการสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็น สัตว์ที่เลี้ยงร่วมกันในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสุนัขกับสุนัข สุนัขกับแมว หรือแมวกับแมว เมื่อเป็นแล้วสามารถจึงแพร่เชื้อให้กันได้
จากการศึกษาของ Fayez Awadalla Salib และคณะ ในปี ค.ศ. 2011 ในแมวจำนวน 289 ตัว ตรวจพบไรในหู 24.56% (mono-specific infestation) และในสุนัขจำนวน 223 ตัว ตรวจพบไรในหู 7.17% (mono-specific infestation) โดยพบว่าลูกสัตว์เป็นช่วงวัยที่พบได้มากที่สุด ซึ่งใกล้เคียงกับผลการศึกษาของ Clarissa P. Souza และคณะ ในปี ค.ศ. 2008 ในสุนัขจำนวน 250 ตัว พบไรในหู 6% โดยพบมากสุดในช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี
ไรในหู สาเหตุสำคัญของโรคช่องหูอักเสบ
ไรในหูเป็นสาเหตุของการเกิดโรคช่องหูอักเสบ (Otitis) ในสุนัขและแมว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักเพียงอย่างเดียว หรืออาจเป็นร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อยีสต์ด้วยก็ได้ สัตว์ป่วยจะมีขี้หูจำนวนมาก ลักษณะออกสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีอาการคันหูรุนแรง บางตัวสะบัดหัวจนใบหูบวม (aural hematoma) หรือเกาหูจนเกิดการอักเสบ บางรายเป็นรุนแรงเกิดการติดเชื้อไปยังช่องหูชั้นกลางและชั้นใน ทำให้มีอาการทางระบบประสาท เช่น หัวเอียง เดินวน เดินเซ ได้ด้วยครับ
การรับมือกับไรในหู
มีผลิตภัณฑ์มากมายที่สามารถใช้กำจัดไรในหูน้องหมาได้ ที่ปลอดภัยและนิยมใช้ มักเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหยอดหลังคอ ที่มีส่วนประกอบของยาเซลาแมกติน (Selamectin) หรือยาโมซิเด็กติน (Moxidectin) โดยทำการรักษาร่วมกับการทำความสะอาดช่องหูให้น้องหมาเป็นประจำ บางรายหากมีการติดเชื้อร่วมกับแบคทีเรียและเชื้อยีสต์ คุณหมออาจจ่ายยาหยอดหูมาให้ด้วย หลังจากนั้นคุณหมอจะนัดตรวจหูซ้ำภายหลัง 2-4 สัปดาห์ ถ้าหากยังมีการตรวจพบอยู่ ก็จะทำการหยอดซ้ำอีกครั้งครับ
เนื่องจากไรในหูสามารถติดต่อกันได้ง่าย หากมีสัตว์ตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงร่วมกันในบ้าน แนะนำให้พามาตรวจด้วย ถ้าหากมีก็ควรได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแหล่งติดต่อกันไปมาไม่จบไม่สิ้น
การล้างทำความสะอาดหูให้กับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถป้องกันโรคไรในหูได้ เจ้าของควรเช็ดหูให้กับน้องหมาเป็นประจำทุก ๆ 1-2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย กรณีรักษาหายแล้ว เจ้าของสามารถหยอดยาป้องกันให้กับน้องหมาเป็นประจำได้ทุกเดือน นอกจากจะใช้กำจัดไรในหูได้แล้ว ยาพวกนี้ยังใช้ป้องกันเห็บ หมัด และพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย