ที่มา: dodeden

วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคมนี้ จะได้ชมกันแล้ว เพราะแค่ปล่อยตัวอย่างออกมา ก็ทำเอาแฟน ๆ ตื่นตา ตื่นใจ อยากติดตามชมกันแล้ว สำหรับ Project S The Series ตอนใหม่ “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ที่นำแสดงโดย 2 หนุ่มหล่อ ต่อ ธนภพ และ สกาย วงศ์รวี โดยทีมสร้าง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น จากค่าย GDH

โดยในเรื่องนี้ ต่อ ธนภพ ต้องรับบทเป็น ยิม เด็กออทิสติกที่มีความสามารถในการเล่นแบดมินตัน และได้รับการฝึกฝนร่วมกับ โด่ง (สกาย วงศ์รวี) ลูกพี่ลูกน้อง จนมีความฝันร่วมกันว่า “วันหนึ่งพวกเขาจะต้องเป็นนักกีฬาแบดมินตันประเภทคู่ที่เก่งที่สุดให้ได้” ซึ่งแค่ตัวอย่าง ก็เห็นว่าหนุ่มต่อทุ่มสุดตัวแบบไม่ห่วงลุค แสดงได้สมบทบาทไม่น้อย

 “พี่ยิม” พี่ชายออทิสติกของ “น้องโด่ง” คู่พี่น้องที่ต่างตกหลุมรักในกีฬาแบดมินตัน ก่อนจะไปเจอพวกเขาเต็มๆใน “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” เรื่องที่ 2 จาก Project S The Series 

https://www.facebook.com/projectStheseries/videos/1348564668530278/

ทั้งนี้ เฟสบุ๊ค Project S The Series  ระบุว่า  พบกับพลังความรักของครอบครัวนักกีฬาที่แสนอบอุ่นหัวใจ ผ่านเรื่องราวของแม่ม่ายสองพี่น้อง “แม่ตั้ม” (เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง) และ “แม่แตง” (สู่ขวัญ บูลกุล) ที่ต่างมีลูกของตัวเองและช่วยกันเลี้ยงดูเป็นพ่อแม่ให้กับเด็กทั้งสองคน “ยิม” (ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร) ลูกของแม่ตั้ม เกิดมาเป็นเด็กออทิสติก พัฒนาการช้าทั้งร่างกายและสมองราวกับเด็ก 6 ขวบ

ทำให้แม่แตงอดีตนักกีฬาแบดมินตันจับยิมเล่นแบดมินตันหน้าบ้านกับลูกชายตัวเองคือ “โด่ง” (สกาย วงศ์รวี นทีธร) เพื่อฝึกทักษะร่างกายและสมอง

ซึ่งทำให้ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ในตัวยิมที่เล่นแบดมินตันเก่งราวกับนักกีฬาทั่วไป รวมถึงโด่งก็มีความสุขกับการเล่นแบดมินตันอย่างมาก แม่แตงจึงจับเด็กทั้งสองเล่นแบดมินตันหน้าบ้านด้วยกันทุกๆวัน

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นความฝันอันยิ่งใหญ่ของสองพี่น้องว่า “วันหนึ่งพวกเขาจะต้องเป็นนักกีฬาแบดมินตันประเภทคู่ที่เก่งที่สุดให้ได้”

ทั้งนี้ หลังจากปล่อยตัวอย่างออกมา ทำให้ได้รับการชื่นชมจากบรรดาจิตแพทย์เด็ก และ วัยรุ่น จำนวนมาก ซึ่งในละครได้นำเสนอเด็กพิเศษออกมาในมุมที่เป็นจริง และ ละครเรื่องนี้อาจจะสามารถทำให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบ ของคนบางกลุ่มที่ยังมองเด็กพิเศษ เป็นภาระ และ ไม่สามารถรักษาได้ 

สำหรับ โรคออทิสติก  นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เป็นโรคทางจิตเวชในเด็ก มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง พบได้ทั้งคนจนและคนรวย ในเด็กไทยอายุไม่เกิน 5 ขวบ จะพบเด็กออทิสติกหรือกลุ่มอาการออทิซึมสเปกตรัม 1 คนต่อเด็ก 161 คน เด็กออทิสติกแต่ละคนมีระดับความรุนแรงของโรคที่ไม่เท่ากัน ความผิดปกติของเด็กออทิสติกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเด็ก และจะเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อเด็กออทิสติกมีอายุมากขึ้น

จะต้องได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติ และบำบัดรักษากระตุ้นพัฒนาการ และการปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐาน เด็กออทิสติกมีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษา และ พฤติกรรม ผู้ปกครองสามารถสังเกตพบอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ปี

สัญญาณเตือน ได้แก่ “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” กล่าวคือ ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น

ด้านภาษา เช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน  ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้

และ ด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบมองวัตถุที่หมุนตลอดเวลา เช่น พัดลมหรือของเล่นที่หมุนๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้ พามาตรวจเร็ว ผลการรักษาก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย

ขณะที่ วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในการดูแลเด็กที่มีภาวะออทิสติก อย่างเช่น  ที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการคลินิกพิเศษ 3 คลินิก

ได้แก่  1. คลินิกพิเศษเพื่อวินิจฉัยภาวะออทิสติกด้วยเครื่องมือ ADOS-2 (Autism Diagnostic Observation Schedule) ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการวินิจฉัยภาวะออทิสติก โดยเครื่องมือมาตรฐานและมีหลักฐานประกอบการวินิจฉัย ที่มีความละเอียดและแม่นยำ ใช้เวลา ภายในเวลา 30-45 นาที

ในชุดกิจกรรม จะประกอบด้วย สถานการณ์จำลองให้เด็กได้ปฏิบัติและมีการบันทึกพฤติกรรมอย่างละเอียดและมีการให้คะแนนตามการแปลผลของ ADOS แล้วนำไปเทียบอิงกับเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ปัจจุบัน มีการใช้เครื่องมือ ADOS-2 ในการวินิจฉัยภาวะออทิสติกมากกว่า 10 ปี มีจำนวนเด็กทั้งสิ้น 721 ราย

โดยรายที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถให้การวินิจฉัยได้ คือ 13 เดือน ส่งผลให้เด็กได้รับการรักษาแบบเข้มข้นตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งนี้ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษา สังคมและพฤติกรรมที่ดีขึ้น ตลอดจนมีระดับสติปัญญาที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับปกติ

และจากประสบการณ์ในการเปิดคลินิกพิเศษวินิจฉัยภาวะออทิสติก ขณะนี้จึงได้พัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสติกที่เป็นของประเทศไทยเอง คือ เครื่องมือ TDAS (Thai Diagnostic Autism Scale) เพื่อจะได้วินิจฉัยและช่วยเหลือเด็กไทยได้อย่างทั่วถึง

2.คลินิกการสื่อสารทางเลือก (Augmentative and Alternative Communication: AAC) นำเอาวิธีการอื่นมาใช้สนับสนุนทักษะการพูดของคนที่มีความบกพร่องให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาจเป็นระบบที่ไม่ต้องมีองค์ประกอบอื่น เช่น ภาษามือ และสีหน้า ท่าทาง รวมถึงการใช้วิธีการสื่อสารที่มีตัวช่วยเป็นองค์ประกอบ เริ่มตั้งแต่การใช้รูปภาพ จนถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ที่ปัจจุบันมีตัวเลือกหลากหลาย

และ 3.คลินิกส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสารในเด็กออทิสติกโดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนภาพ (Picture Exchange Communication System : PECS) ซึ่งเป็นการสื่อสารเสริมหรือสื่อสารทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทนให้กับเด็กที่พูดไม่ได้หรือได้น้อยให้มีช่องทางสื่อสารอื่นแทนคำพูดเพื่อสื่อสารบอกความต้องการกับผู้อื่นได้ ช่วยลดความเครียดจากการที่คนอื่นไม่เข้าใจตนเองได้

ติดตามได้ทุกวันเสาร์ เวลา 21.45 น. ทางช่อง GMM25 และ RE-RUN เวลา 23.45 น. ทาง LINE TV เริ่มวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคมนี้

เรื่องน่าสนใจ