ผลจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจาก “Webometrics Ranking of World Universities” หรือ “Ranking Web of World Universities” เว็บไซด์การจัดอันดับชื่อดังของประเทศสเปน ได้ทำการสำรวจมาตรฐานของมหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย
โดยวัตถุประสงค์ในการจัดทำ Ranking นี้ มีกลุ่มเป้าหมายสำคัญอยู่ที่บรรดาผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ web performance ของสถาบันการศึกษาใด ได้ลำดับที่ต่ำกว่าความคาดหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นเลิศทางวิชาการของสถาบันนั้นๆ ผู้บริหารของสถาบันควรมีการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายด้านการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิตของสิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ทางวิชาการ ในรูปแบบ electronic publications ให้มากยิ่งขึ้น
และจากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย Life on campus ได้ทำการแยกย่อยออกมาเป็นส่วนของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” โดยเฉพาะ จัดเป็น 10 อันดับมหาวิทยาลัยราชภัฏชั้นนำในประเทศไทย โดยเรียงจากอันดับในประเทศ จะมีมหาวิทยาลัยราชภัฏใดบ้างที่ได้มาตรฐานตรงกับเกณฑ์การประเมินของ Webometrics ในปี 2557 นี้ไปชม…
อันดับ 10 : มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (Lampang Rajabhat University)
อันดับ 10 เป็นของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยอันดับที่ 49 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ webometrics ประจำปี 2557 เดิมชื่อว่า”วิทยาลัยครูลำปาง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2514 และได้เปลี่ยนเป็น “สถาบันราชภัฏลำปาง” ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ทำให้สถาบันราชภัฏลำปางปรับเปลี่ยนฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง” ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจัดการศึกษาระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตในสาขาวิชาการศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์, วิทยาศาสตร์, บริหารธุรกิจ และสาขาการบัญชี
อันดับ 9 : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (Uttaradit Rajabhat University)
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกและเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2479 ในนาม”โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุตรดิตถ์” ต่อมาปี พ.ศ. 2518 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์” เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏในปี พ.ศ.2538 วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์จึงมีชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์”ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ยกฐานะสถาบันราชภัฏขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์” มาจนถึงปัจจุบัน เปิดสอนหลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก และวิทยาลัยนานาชาติ รวมทั้งเปิดอีก 2 วิทยาเขตที่จังหวัดแพร่ และน่าน นั่นเอง โดยจากการจัดอันดับในปี 2557 นี้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ติดอยู่ในอันดับที่ 45 ของประเทศไทยอีกด้วย
อันดับ 8 : มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (Rambhai Barni Rajabhat University)
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี บริเวณวังสวนบ้านแก้ว อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระราชทานให้กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี ตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2515 โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยครูจันทบุรี”
ต่อมาใน พ.ศ.2528 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นนามของวิทยาลัยว่า “วิทยาลัยรำไพพรรณี” เปลี่ยนมาเป็น “สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี” และ “มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี” ในปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน
อันดับ 7 : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (Nakhon Pathom Rajabhat University)
มาถึงอันดับ 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยในอันดับที่ 41 ของไทย จาก webometrics ตกเป็นของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม” โดยเริ่มตั้งเป็น “โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนครปฐม” ในปี พ.ศ. 2479 รับเฉพาะนักเรียนหญิง เปิดสอนชั้นฝึกหัดครูประชาบาล หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม”
มาเป็น “วิทยาลัยครูนครปฐม” และ “สถาบันราชภัฏนครปฐม” ในปี พ.ศ.2535 และเปลี่ยนชื่อเป็น“มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม” ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน เปิดสอนทั้งหมด 7 สาขาวิชา รวมทั้งหลักสูตรสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ มีนักศึกษาจีน นักศึกษาเวียดนาม จำนวนกว่า 200 คน
อันดับ 6 : มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (Pibulsongkram Rajabhat University)
มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ติดอยู่ในอันดับที่ 39 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศ โดยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 ด้วยความต้องการที่จะผลิตครูเพิ่มขึ้นในมณฑลพิษณุโลก จึงเพิ่มหลักสูตรวิชาชีพครูขึ้นในโรงเรียนประจำ “พิษณุโลกพิทยาคม”
โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ปี พ.ศ.2547 มาจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์, คณะเทคโนโลยีการเกษตร, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะวิทยาการจัดการ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และบัณฑิตวิทยาลัยในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกอีกหลายสาขาด้วยกัน
อันดับ 5 : มหาวทิยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (Buriram Rajabhat University)
มหาวิทยาลัยอันดับที่ 35 ของประเทศไทยจาก webometrics และอยู่ในอันดับที่ 5 มหาวิทลัยราชภัฏที่ดีที่สุดในประเทศ นั่นคือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์” เริ่มก่อตั้งมาจาก “วิทยาลัยครูบุรีรัมย์” เมื่อปี พ.ศ.2514 และได้เปลี่ยนมาเป็น “สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์” เมื่อปี พ.ศ.2538
จนกระทั่งเปลี่ยนเป็น“มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เปิดสอนหลักสูตรต่างๆ มากมายตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก ประกอบด้วย 6 คณะ และ 1 วิทยาลัย
อันดับ 4 : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (Phranakhon Rajabhat University)
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่เรียกได้ว่าเป็น “สถาบันการผลิตครูแห่งแรกของประเทศไทย” ที่สถาปนาขึ้นเป็น “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” โดยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2435 และได้เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง เช่น โรงเรียนฝึกหัดครู, โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร, โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร, วิทยาลัยครูพระนคร และได้เปลี่ยนมาเป็น “สถาบันราชภัฏพระนคร” ในปี พ.ศ. 2535
จนกระทั้งมาเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร” เมื่อปี พ.ศ. 2547 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทย ด้วยชื่อเสียงและมาตรฐานที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ในปี พ.ศ.2557 จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจาก webometrics มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครติดอยู่ในอันดับที่ 34 ของประเทศ และเป็นอันดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทยอีกด้วย
อันดับ 3 : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (Suan Dusit Rajabhat University)
อันดับ 3 จัดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีชื่อเสียงในเรื่องการโรงแรมและธุรกิจบริการ สมัยแรกเริ่มจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนการเรือนแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อ “โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” สังกัดกองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในปีพ.ศ. 2477 ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี
จากโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนจนมาเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต” มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศด้วยกัน 4 ด้านคือ ด้านการศึกษาปฐมวัย ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านอุตสาหกรรมบริการ และพยาบาลศาสตร์ นอกจากหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก แล้วยังมีโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ และโรงเรียนการเรือน ให้นักศึกษาที่สนใจได้เลือกเรียนอีกด้วย
อันดับ 2 : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (Yala Rajabhat University)
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นพัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา” มหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยติดอยู่ในอันดับที่ 27 ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย จากการจัดอันดับโดยwebometrics ของประเทศสเปน
เดิมที่จัดตั้งเป็น “โรงเรียนอาชีพกสิกรรม” ประจำจังหวัดยะลา เปิดสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็น“โรงเรียนฝึกหัดครู” ในปี พ.ศ. 2477 และยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยครู” ซึ่งมีการปรับปรุงการเรียนการสอนจนสามารถเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีได้ ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏ” และพัฒนามาเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา” ในปัจจุบัน เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก
อันดับ 1 : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (Suan Sunandha Rajabhat University)
อันดับหนึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏของประเทศไทย จากผลการจัดอันดับโดย webometrics ประจำปี 2557 ตกเป็นของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” มหาวิทยาลัยของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชฐานของพระราชวังดุสิตในรัชกาลที่ 5 มาก่อน แรกเริ่มเดิมทีมาจากการก่อตั้งเป็น “โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย” ในปี พ.ศ.2480 ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยครูสวนสุนันทา”
และในปี พ.ศ. 2538 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ ทั่วประเทศ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จึงมีชื่อว่า “สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา” และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ.2547 กับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ยังผลให้สถาบันราชภัฏสวนสุนันทายกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” นับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับหนึ่งของประเทศไทยแล้ว ยังติดอยู่ในอันดับที่ 25 จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย
ที่มา ผู้จัดการ