ข้อมูลงานวิจัยเรื่องการลดน้ำหนักแห่งปี 2014 ในเว็บไซต์ Time.com เผยว่า การจะลดน้ำหนักให้สำเร็จผลนั้น ส่วนหนึ่งต้องรู้ธรรมชาติของร่างกายเราให้ดีเสียก่อน และต้องปรับไลฟ์สไตล์การกินที่เหมาะสมกับตัวเราด้วย ซึ่ง 10 เรื่องเด่นของงานวิจัยแห่งปี 2014 ต่อไปนี้สามารถใช้เป็นแนวทางการดูแลตัวเองที่ดีได้ โดยเฉพาะคนที่ต้องการจะลดน้ำหนัก สำหรับงานวิจัย 10 เรื่องเด่นนั้นมีอะไรที่เราควรรู้ไว้บ้าง ไปดูกันครับ
1. คาร์โบไฮเดรตไม่เหมาะที่จะเป็นอาหารยามดึก
ผลการวิจัยเผยว่า ระบบย่อยอาหารในตอนกลางคืนของเราจะทำงานไม่ดีนัก จึงเผาผลาญแคลอรีได้น้อยกว่า โดยเฉพาะอาหารหมู่คาร์โบไฮเดรต ที่ร่างกายจะดึงไปเผาผลาญน้อยลง ทำให้มีแคลอรีบางส่วนเผาผลาญไม่หมด ถูกเก็บสะสมเป็นไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้น ควรหันมากินอาหารหมู่โปรตีนแทนดีกว่า
2. เแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อน้ำหนักตัว
จากผลวิจัยล่าสุดเผยว่า การที่เรามีรูปร่างอ้วน หรือผอมนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ของเรา ซึ่งมีอยู่สองชนิดได้แก่ แบคทีเรียตัวอ้วน หรือ Firmicutes ที่จะทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้น้อย เกิดการสะสมไขมันมากขึ้น ที่แม้เรากินเพียงนิดหน่อย น้ำหนักตัวก็เพิ่มแล้ว ในทางกลับกัน หากเรากินมากแต่ไม่อ้วนขึ้นเลย ก็แสดงว่าในลำไส้ของเรามีแบคทีเรียตัวผอมมากกว่า นั่นคือ แบคทีเรียชนิด Bacteroidetes ที่ช่วยเร่งการเผาผลาญแคลอรี ดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้อาหารที่เรากินเข้าไปนั้นถูกเผาผลาญเป็นพลังงานมากกว่าสะสมเป็นไขมัน
3. จิบกาแฟร้อนก่อนวิ่ง ร่างกายจะเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น
จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์เจียในสหรัฐอเมริกา เผยว่า การดื่มกาแฟก่อนวิ่งอย่างน้อยประมาณ 30 นาที จะช่วยเบิร์นแคลอรีได้มากขึ้นถึงร้อยละ 15 เป็นเพราะกรดคลอโรจินิก Chlorogenic acid (CGA) ที่พบมากในกาแฟจะช่วยดึงไขมันที่สะสมไว้ในร่างกายมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้มากขึ้นกว่าปกติ
4. อ้วนมากเกินไป วิตามินดีถูกทำลาย
มีผลงานวิจัยในปี 2014 หลายชิ้นที่มีความเห็นตรงกันว่า วิตามินดี กับความอ้วนเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะวิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการสร้างฮอร์โมนอิ่ม และยังเป็นวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของโรคอีกด้วย ดังนั้น หากใครที่มีน้ำหนักตัวเกิน มีไขมันในร่างกายสูง ระดับวิตามินดีในร่างกายก็จะน้อยลงด้วย ทำให้สามารถกินอาหารได้เยอะโดยไม่รู้สึกอิ่ม จึงควบคุมน้ำหนักตัวได้ยาก และยังมีความเสี่ยงเป็นโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อได้ง่ายด้วย ได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคลำไส้อักเสบ ( Crohn’s Disease) โรคเบาหวานประเภท 2 และโรคปลอกประสาทอักเสบ ((Multiple Sclerosis)
5. สุขภาพของผู้หญิงวัยทองน่าเป็นห่วงที่สุด
จากผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics เผยว่า วัยหมดระดู หรือวัยทองในผู้หญิง ซึ่งอายุเฉลี่ยของวัยทองคือ 45 – 50 ปีขึ้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านทั้งสุขภาพกายและใจ เช่น อ้วนง่าย อารมณ์แปรปรวน ผิวพรรณหยาบกร้านขึ้น อาการร้อนวูบวาบ กระดูกบางลง เป็นต้น สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้น ผู้หญิงในช่วงอายุ 40 ปีควรเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงให้ดี เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดอาหารหมู่คาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เน้นกินแคลเซียมและไฟเบอร์มากขึ้น เพื่อไม่ให้อ้วนค่ะ
6. กรดไขมันดี FAHFAs มีประโยชน์กว่ากรดไขมันโอเมก้าทรี
ผลการวิจัยจากศูนย์การแพทย์ Beth Israel Deaconess Medical Center ของสหรัฐฯ เผยว่า ความจริงแล้วในร่างกายของเราก็สามารถสร้างกรดไขมันดีได้เองเหมือนกัน และยังมีประโยชน์กว่ากรดไขมันที่หาได้จากปลาทะเลน้ำลึกอย่างโอเมก้าทรีอีกด้วย นั่นคือ FAHFAs (Fatty Acid Hydroxyl Fatty Acids) โดยร่างกายจะสร้างออกมาถึงร้อยละ 50-75 เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และปรับสมดุลการผลิตอินซูลินในร่างกาย จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ได้
7. แบ่งกิน 5 มื้อย่อยต่อวัน ดีต่อสุขภาพจิต
จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยวอริก ประเทศอังกฤษ เผยว่า การแบ่งกินมื้อย่อยเป็น 5 มื้อนั้นช่วยให้ลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น และยังสามารถบรรเทาความเครียดได้ด้วย ซึ่งการกินมื้อย่อยๆ จะทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญแคลอรีตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น ทำให้สมองปลอดโปร่ง สามารถผุดไอเดียความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น คิดบวกมากขึ้น และเพิ่มการเรียนรู้และจดจำได้มากขึ้นด้วย
8. รสอูมามิก็มีอยู่ในผัก
จากผลการวิจัยในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition เผยว่า รสที่ 5 หรือ รสอูมามิ เป็นรสชาติที่เพิ่มความกลมกล่อมให้กับอาหารของเรา ซึ่งความจริงแล้วสามารถพบได้ตามธรรมชาติ อย่างในผัก เช่น หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด เห็ดทรัฟเฟิล ชาเขียว สาหร่าย และมะเขือเทศ โดยที่อาหารเหล่านี้เมื่อนำไปปรุงอาหารแล้ว ก็จะให้อาหารมีรสชาติกลมกล่มขึ้นโดยที่เราแทบไม่ต้องปรุงรสชาติอื่นเพิ่มเลย
9. กินน้อย ไม่ออกกำลังกาย ก็อ้วนได้
โดยปกติแล้วร่างกายควรได้รับอาหารไม่เกิน 2,000 แคลอรีต่อวันสำหรับผู้ชาย และไม่ควรเกิน 1,500 แคลอรีต่อวันสำหรับผู้หญิง ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะกินน้อยกว่าแคลอรีต่อวันที่กำหนด แต่ถ้าไม่ค่อยมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก ก็ทำให้อ้วนได้อีกเช่นกัน โดยจากผลการวิจัยในประเทศอังกฤษเผยว่า น้ำหนักก็คือแคลอรีส่วนเกิน ซึ่งเป็นผลให้รูปร่างของเราไม่เฟิร์มกระชับ ดังนั้น แม้ว่าจะกินน้อย หรือกินแต่ของที่มีประโยชน์ เราก็ต้องบริหารร่างกายด้วย โดยที่ควรจะออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที
10. หัวเราะบ่อยครั้ง บริหารกล้ามเนื้อท้อง
การหัวเราะทำให้เราสมองของเราปลอดโปร่ง อารมณ์แจ่มใสด้วย มีผลทำให้เราสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าตอนที่อยู่ในอารมณ์เครียด หรือไม่ค่อยขำขันกับเรื่องราวต่างๆ โดยในขณะที่เรากำลังหัวเราะนั้น ร่างกายจะทำการกระตุ้นสร้างคลื่นสมองแกมมา ซึ่งเป็นคลื่นสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงความทรงจำ ระดับการเรียนรู้ ระดับสมาธิและการมองโลกในแง่ดี ทำให้เรารู้สึกสมองปลอดโปร่งมากขึ้น จดจำอะไรได้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว การหัวเราะยังเป็นการบริหารกล้ามเนื้อท้องให้แข็งแรงอีกด้วยนะคะ
ทั้งนี้ การลดน้ำหนักต้องอยู่ในระดับที่พอดีด้วยนะครับ หากลดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แล้ว ก็ควรรักษามาตรฐานน้ำหนักเอาไว้ให้ดี ส่วนใครที่อยากลดน้ำหนักให้ได้เร็วๆ ก็สามารถนำคำแนะนำของผลงานวิจัยที่เรานำมาฝากนี้ไปปรับใช้กันดูได้นะครับ ผลเป็นอย่างไรมาแชร์กันบ้างนะครับ