ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนขณะนี้ มีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงขึ้นเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ 90 มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะปัญหาการมีไขมันในเลือดสูงหรือที่เรียกว่าไขมันคอเลสเตอรอล ( Cholesterol ) เกินกว่าค่ามาตรฐาน เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งกรมสบส.ให้ความสำคัญและร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน  เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือความพิการส่วนใหญ่มักเกิดอย่างกะทันหัน การเกิดโรคจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณของไขมัน โดยจะรู้ความผิดปกติได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น  จึงเป็นภัยเงียบที่แอบแฝงอยู่ในร่างกาย เกิดได้ทั้งคนที่น้ำหนักตัวปกติ คนอ้วนและผอม

จากรายงานผลการสำรวจสุขภาพโดยการตรวจร่างกายในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขครั้งที่ 5 เมื่อพ.ศ.2557 พบว่ามีประชาชนมีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดคือ 200  มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร้อยละ 44 หรือประมาณ 26 ล้านคน ผู้ชายพบร้อยละ 41 หญิงพบร้อยละ 47

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า ไขมันคอเลสเตอรอลมี 2 ชนิด ชนิดที่เป็นอันตรายและทำให้เกิดโรค คือ แอลดีแอล (Low Density Lipoprotein:LDL) ไขมันชนิดนี้มาจากเนื้อสัตว์ที่รับประทานเข้าไปมากเกินความต้องการร่างกายซึ่งจะไปเกาะและพอกที่ผนังภายในหลอดเลือดแดง

ทำให้หลอดเลือดหนาและตีบแคบลงความยืดหยุ่นจะเสียไป ส่งผลให้เลือดดีที่สูบฉีดออกจากหัวใจไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่สะดวก ทำให้อวัยวะขาดเลือดและเจ็บป่วยกะทันหัน เช่น หากเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ จะเกิดอาการหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย

หากเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ สมองจะขาดเลือด เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องใช้เวลาพักฟื้นตัวนานมาก ระดับปกติไขมันแอลดีแอลในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตรส่วนไขมันที่มีผลดีกับสุขภาพคือเรียกว่าเอชดีแอล ( High Density Lipoprotein :HDL) ยิ่งมีมากความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะลดลง และช่วยจับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดออกไปทำลายที่ตับ  ไขมันชนิดนี้สร้างได้โดยการออกกำลังกาย

คนที่มีสุขภาพดีจะต้องมีไขมันชนิดนี้ในเลือดมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และควรมีไขมันฯในเลือดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งวิชาการทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่มีไขมันฯมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนที่มีไขมันฯ ปกติ 2-5 เท่าตัว

ด้าน แพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการป้องกันปัญหาไขมันในเลือดสูง  แนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจไขมันในเลือดทุก 1 ปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของตัวเอง ดื่มน้ำให้ได้วันละอย่างน้อย 6-8 แก้ว ควบคุมการรับประทานอาหาร

โดยกินอาหารกลุ่มข้าวแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เลือกกินข้าวกล้อง ธัญพืช เนื้อปลาเป็นหลัก เลือกใช้ไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสมในการประกอบอาหาร เช่นน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า ลดการกินอาหารที่มีไข่มันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน เนย อาหารทอด อาทิ ปาท่องโก๋ อาหารชุบแป้งทอด อาหารที่มีกะทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ลดการกินอาหารที่คอเลสเตอรอลสูง สมองสัตว์ ไข่แดง ไข่ปลา อาหารทะเล

เช่น กุ้ง ปลาหมึก มันปูเป็นต้น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานซ์ เช่นอาหารจานด่วน มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งมีใยอาหารทุกมื้อ เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารตามธรรมชาติซึ่งจะช่วยในการกักน้ำตาล และคอเลสเตอรอล รวมทั้งลดการกินอาหารหวาน มัน เค็ม ร่วมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง  เช่น เดินเร็ว จ็อคกิ้ง เป็นต้น จะช่วยลดไขมันในเลือดและเพิ่มไขมันชนิดดีมากขึ้น

เรื่องน่าสนใจ