สถาบันโภชนาการเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลห้ามกิน ′กีวี-แอปเปิล′ ′มะม่วงดิบ-กล้วย′ จับคู่อาจก่อโรคร้าย เหตุไม่มีงานวิจัยใดยืนยันบริโภคผลไม้เกิดโทษ รับกระทบบ้างในกลุ่มระบบอาหารย่อยยาก แต่ไม่รุนแรง
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลการรับประทานผลไม้บางอย่างคู่กันจะก่อโทษต่อร่างกาย ส่งผลให้หลายคนเมื่อรับข้อมูลเหล่านี้ก็หวาดวิตก ไม่ว่าจะเป็นการกินกีวีและแอปเปิลคู่กันจะทำให้เกิดโรคหัวใจ หรือ การกินมะม่วงดิบคู่กับกล้วยจะทำให้เกิดโรคตับแข็ง ทั้งหมดล้วนไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยมีการศึกษาใดๆ ที่พบว่าการกินผลไม้จะเกิดโทษ ยกเว้นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องระวังเรื่องการทานผลไม้รสหวาน
แต่โดยรวมผลไม้ถือว่ามีประโยชน์มาก ส่วนปริมาณที่ควรรับประทานนั้นอยู่ที่ 400 กรัมต่อวัน ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าคนไทยทานเพียงวันละ 100 กรัมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณค่าในผลไม้มีทั้งน้ำตาล มีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร ซึ่งพบว่ามีสูงกว่าในผักด้วยซ้ำ และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็งอีกด้วย
รศ.วิสิฐกล่าวอีกว่า ตามหลักโภชนาการแนะนำให้รับประทานผลไม้อย่างหลากหลาย การทานผลไม้หลายๆ ชนิดจึงเป็นข้อดีและเป็นสิ่งที่แนะนำ ไม่เคยมีการศึกษาหรือผลวิจัยใดๆ ที่ห้ามการรับประทานผลไม้บางชนิดพร้อมกัน ซึ่งอาจจะมีบ้างที่ระบบการย่อยในบางคนจะไม่รับผลไม้บางประเภทแล้วทำให้เกิดการย่อยยาก เช่น บางคนทานมะม่วงแล้วท้องอืดเพราะไม่สามารถย่อยแป้งได้ หรือบางคนทานแอปเปิลแล้วเกิดก๊าซในกระเพาะอาหารบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเฉพาะบางคนเท่านั้น และไม่ได้ถือว่าเป็นโทษร้ายแรงแต่อย่างใดส่วนมากสารโปรไบโอติกที่อยู่ในผลไม้จะช่วยระบบย่อยได้ดีมากกว่าเกิดโทษ ซึ่งในผลไม้ชนิดเดียวกันในช่วงการสุกที่ไม่เท่ากันก็ยังมีประโยชน์ที่แตกต่างกันด้วย
รศ.วิสิฐกล่าวว่า การทานผลไม้ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เป็นอย่างดี เพราะพบว่าคนไทยยังบริโภคโพแทสเซียมไม่เพียงพอ จากปริมาณที่ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 3,500-4,000 มิลลิกรัม แต่คนไทยยังได้รับอยู่ที่ 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ซึ่งพบว่าโพแทสเซียมจะมีอยู่มากในผลไม้ โดยโพแทสเซียมจะช่วยลดความดันโลหิตและป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องระวังเรื่องน้ำตาล ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าการได้รับน้ำตาลจากผลไม้อาจดีกว่าการได้รับจากน้ำตาลจากเครื่องดื่ม หรือการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันอยู่ดี