วันนี้ (27 พ.ค. 58) นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจระดับสติปัญญา(IQ) และความฉลาดทางอารมณ์(EQ) ของเด็กไทยวัยประถมศึกษาปีที่ 1 ปี พ.ศ.2557 จำนวน 4,929 คน ทุกภาคทั่วประเทศ พบไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 93.1 จุด ลดลงจากปี 2554 ที่มีอยู่ 94 จุด ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานโลกที่กำหนดเฉลี่ยอยู่ที่ 100 จุด โดยเด็กในเมืองมีค่าเฉลี่ยไอคิวสูงกว่าเด็กในชนบท ส่วนอีคิวอยู่ระดับปกติทั้งเขตเมืองและชนบท
นพ.รัชตะ กล่าวว่า ไอคิวของเด็กมีความสำคัญต่อระดับสติปัญญาการเรียนรู้ ส่วนหนึ่งมาจากความอบอุ่นในครอบครัว และทักษะวิธีการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาที่แตกต่างกัน เช่น ความพอเพียงของอาหารที่บำรุงร่างกาย ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ ในชนบทอาจจะมีน้อยกว่าในเขตเมือง
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งสร้างเด็กไทยให้มีความสมบูรณ์ทั้งระดับสติปัญญาดีและสังคมดีควบคู่กัน โดยมีโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย.2558 ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
มีอาสาสมัครสาธารณสุข-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษกับกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ เด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงอายุ 5 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยเรียน
สำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพไอคิวและอีคิวเด็ก 3 ประเด็น คือ
1.ความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กระหว่างสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับกับศูนย์เด็กเล็ก ในพื้นที่ทุกสังกัด
2.ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก เลี้ยงดูเน้น “กิน กอด เล่น เล่า ลดดูทีวี ลดเล่นเกม” สร้างความใกล้ชิด ผูกพันระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดู ช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กและเห็นความผิดปกติของเด็กได้เร็วขึ้น ให้เด็กกินอาหารตามวัย ถูกหลักโภชนาการ การกอดเด็กจะได้รับความอบอุ่น รับรู้ถึงความรัก การเล่นเป็นการกระตุ้นพัฒนาการเด็กตามวัย ส่วนการเล่านิทานจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เป็นการฝึกการทำงานประสาทเซลล์สมอง
3.เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลพัฒนาการเด็กแบบง่ายๆ
ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พบว่า พบสถานการณ์ที่ส่งผลต่อระดับไอคิวของเด็ก ที่สำคัญมี 3 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 เด็กมีโอกาสอยู่กับครอบครัวลดลง โดยอยู่กับพ่อและแม่ครบถ้วนเพียงร้อยละ 62 มีเด็กถูกเลี้ยงโดยพ่อหรือแม่ร้อยละ 14 คือพ่อแม่ทำงานอยู่คนละจังหวัดร้อยละ 49 พ่อแม่แยกทางกันร้อยละ 32 พ่อหรือแม่เสียชีวิตร้อยละ 8
แบบที่ 2 เด็กที่พ่อแม่ปล่อยให้อยู่กับผู้สูงอายุ หรืออยู่ในครอบครัวที่แหว่งกลาง (Skip generation) คือ มีเฉพาะผู้สูงอายุกับเด็ก ซึ่งขณะนี้พบในชนบทมากกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 6 ของครัวเรือน
ทั่วประเทศผลจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงโดยปู่ ย่า ตา ยาย จะเสียเปรียบด้านการศึกษามากกว่าเด็กที่เลี้ยงโดยพ่อแม่ เนื่องจากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัย และรูปแบบที่ 3 คุณภาพของการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียน จากการสำรวจพบเด็กอายุ 3-4 ปี ร้อยละ 73 กำลังเรียนอยู่ในโปรแกรมก่อนวัยเรียน ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ภาคเหนือมีอัตราเข้าเรียนสูงสุดร้อยละ 82 ซึ่งคุณภาพการส่งเสริมการเรียนรู้จากศูนย์เด็กเล็ก จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตจะเร่งดำเนินการป้องกันปัญหาและส่งเสริมศักยภาพไอคิว-อีคิวเด็กไทยใน 3 ระดับดังนี้
1.ส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ
2.ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียน ทั้งทักษะการอ่าน การคำนวณ ผ่านกลไกการเลี้ยงดูและการเล่นที่ถูกต้องในครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก มีเครื่องมือที่ทุกฝ่ายจะใช้ร่วมกันในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และ
3.การคัดกรองปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ ออทิสติก อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็ก เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะพบปัญหาดังกล่าวประมาณร้อยละ 15 โดยครูจะสามารถคัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้นได้ถ้าแก้ไขไม่ได้จะส่งต่อระบบสาธารณสุข
ซึ่งเรื่องนี้เป็นโปรแกรมสำคัญที่กรมสุขภาพจิตกำลังเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งในเขตเมืองและชนบท รวมทั้งเพิ่มพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ด้วย ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลดข้อมูลด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และเว็บไซต์ของสถาบันราชานุกูล www.rajanukul.go.th และโทรปรึกษาได้ที่หมายเลย 1667 และ 1323