ที่มา: หมอชาวบ้าน

หลังจากที่เราได้รู้ถึงปัจจัยที่ทำให้หน้าของเราเกิดฝ้าแล้ว และสารประกอบยาและตัวยาที่ใช้ในการรักษาให้จางลงได้ ปัจจุบันมีการคิดค้นยาและเวชสำอางรักษาฝ้าใหม่ๆ โดยหวังจะรักษาฝ้าให้ได้ผลดี และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เช่น

face of woman and orchid

กรดโคจิก (Kojic acid) เป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา จากการใช้พบว่าปรับสีผิวได้น้อย และมีรายงานการแพ้ครีมชนิดนี้ประปราย
ข้อควรระวังคือครีมตัวนี้ก่อความระคายเคืองสูง และทำให้เกิดผิวหนังอักเสบระคายเคืองจากการแพ้สัมผัส

อาร์บูติน (Arbutin) เป็นสารสกัดธรรมชาติจากพืช bearberry (เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง) พบในสูตรยาโบราณของญี่ปุ่น มีประสิทธิภาพน้อยกว่าไฮโดรควิโนน (ยาทารักษาฝ้าตัวหลักที่ใช้กันแพร่หลาย) 100 เท่า จากการศึกษาพบว่าอาร์บูตินชนิดอัลฟา (alpha-arbutin) ออกฤทธิ์ดีกว่า จึงเริ่มนิยมใช้อาร์บูตินชนิดอัลฟาในครีมทาให้ผิวขาว

วิตามินซีและอนุพันธ์ ใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว

สารสกัดชะเอม (Licorice extract) ลดการเกิดผิวสีเข้มหลังได้รับรังสียูวีบี และลดอาการผิวไหม้แดง

กรดผลไม้ (Alpha hydroxyl acid, AHA) ใช้ในครีมทาให้ผิวขาว เช่น
– กรดไกลคอลิก (glycolic acid) พบมากในอ้อย
– กรดแล็กติก (lactic acid) พบมากในนมเปรี้ยว
– กรดมาลิก (malic acid) พบมากในแอปเปิ้ล
– กรดซิตริก (citric acid) พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
– กรดทาร์ทาริก (tartaric acid) พบมากในองุ่น

Cosmetic aloe cream

สารสกัดจากปอสา มีสารสำคัญคือ kazinol F มีคุณสมบัติในการขจัดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวขาว จึงมีการนำมาใช้ทารักษาฝ้าและกระ

สารสกัดจากใบหม่อน สารหลักที่ออกฤทธิ์ทำให้มีการสร้างเม็ดสีน้อยลงคือ mulberroside F

สารสกัดจากว่านหางจระเข้ พบว่า aloesin ซึ่งสกัดจากว่านหางจระเข้สามารถกดการสร้างเม็ดสีได้

สารสกัดจากใบโสม (Ginseng) มีสาร p-coumaric acid ซึ่งยับยั้งการสร้างเม็ดสี

สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Gingko) มี flavone glycosides ที่ส่วนใหญ่คือ quercetin และอนุพันธ์ของ kaempferol สารเหล่านี้ยับยั้งการสร้างเม็ดสี

สารสกัดสมุนไพรแก่นมะหาด รักษาฝ้าได้ผลพอๆ กับยาทาไฮโดรควิโนนความเข้มข้นร้อยละ ๒
นอกจากนั้น สารที่นำมาทดลองใช้รักษาฝ้าและทำให้ผิวขาวอื่นๆ เช่น สารสกัดจากรก สารสกัดจากชาเขียว และสารสกัดเมล็ดลำไย

ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมที่ใช้รักษาฝ้า เช่น สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดเปลือกสน สารสกัดทับทิม และ tranxemic acid

มีการกินยา tranxemic acid เพื่อให้ฝ้าจางลง ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้บริเวณที่มีเลือดไหลหยุดเร็วขึ้น แต่ตัวยาสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้ทำให้ฝ้าจางลง เนื่องจากต้องกินยาระยะยาว จึงต้องระวังผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดดำอุดตัน

212993-attachmentภาพประกอบจาก bloggang

การทาครีมปกปิดรอยฝ้า
การทาครีมปกปิดรอยฝ้าคือการใช้ครีม และ/หรือแป้งเพื่อปกปิดความผิดปกติของสี หรือโครงรูปของใบหน้าหรือร่างกาย ใช้ทาปกปิดไฝและปาน เช่น ปานดำที่ใบหน้า ด่างขาว แผลเป็น รอยสัก และฝ้า
ในมุมของการรักษาฝ้าเนื่องจากสตรีเอเชียส่วนใหญ่นิยมมีผิวขาว จึงอาจใช้สารเคลือบคลุมผิวทา เนื่องจากเป็นสารที่ทำให้ทึบแสง มีสีขาว หรือขาวหม่น จึงทำให้ใบหน้าและผิวหนังแลดูขาวขึ้น

ตัวอย่างของสารเคลือบคลุมผิว เช่น titanium dioxide, zinc oxide, talcum, kaolin และ bismuth pigments

สารพวกนี้มีคุณสมบัติกันแสงแดดจึงมีส่วนป้องกันการเกิดฝ้าได้ด้วย นับว่าการทาครีมปกปิดรอยฝ้าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาฝ้าวิธีหนึ่ง

ครีมไฮโดรควิโนน
ทำไมยังมีความสับสนเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับครีมไฮโดรควิโนนจากแพทย์ เพราะว่าปัจจุบันในท้องตลาดยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรักษาฝ้าที่ลักลอบผสมสารไฮโดรควิโนน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงประชาสัมพันธ์วิธีทดสอบว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนหรือไม่ ด้วยการป้ายครีมหรือหยดโลชันที่ต้องการทดสอบลงบนกระดาษทิชชูสีขาว แล้วหยดน้ำผงซักฟอกเข้มข้นลงไป หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลให้สงสัยว่ามีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน
หลังจากที่ อย. ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ มีผู้บริโภคสอบถาม อย. ว่าได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาฝ้า แพทย์จ่ายครีมให้ทาฝ้า เมื่อทดสอบตามวิธีที่แนะนำ พบว่ามีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน จึงกังวลว่าจะเกิดอันตราย และข้องใจว่าเหตุใดแพทย์จึงจ่ายยาที่มีสารห้ามใช้คือไฮโดรควิโนน

กรณีนี้ อย. อธิบายว่าครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนจัดเป็นยา การใช้ครีมไฮโดรควิโนนหรือกรดวิตามินเอ แพทย์สามารถใช้ได้ เพราะทราบว่าควรใช้ครีมความเข้มข้นเท่าใด สามารถปรับลดได้ตามความรุนแรงของโรค และให้คำแนะนำการปฏิบัติตน รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ยากันแดดและการหลีกเลี่ยงแสงแดด

ครีมทารักษาฝ้าและอาหารเสริมรักษาฝ้าชนิดใหม่นั้น หลายตัวอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ผลการรักษายังสรุปจากกลุ่มผู้รับการรักษาจำนวนไม่มาก อีกทั้งการวิจัยหลายชิ้นยังเป็นการศึกษาแบบเปิด ทำให้ประสิทธิภาพของครีม และอาหารเสริมรักษาฝ้าที่กล่าวในตอนนี้ ส่วนใหญ่ยังต้องติดตามผลการรักษาต่อไป

เรื่องน่าสนใจ