ที่มา: มติชน

เทคโนโลยีใหม่ช่วยให้การจำแนกดีเอ็นเอเพื่อสร้างแผนที่พันธุกรรม (จีโนม-หรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ) ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของแมมมอธ ช้างขนยาวขนาดมหึมาที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุค “ไอซ์เอจ” ขยับเข้าใกล้ไปอีกก้าวหนึ่ง และเป็นการขยับเข้าใกล้ความเป็นไปได้ที่จะนำข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดมาประกอบกันขึ้นใหม่เพื่อ “โคลนนิ่ง” สัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วนี้กลับคืนมาอีกด้วย

tec01090758p1

รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ดีเอ็นเอของแมมมอธชิ้นใหม่ ที่นำโดยวินเซนต์ ลินช์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยชิคาโก แสดงให้เห็นถึงการค้นพบหน่วยพันธุกรรมใหม่ๆ ของแมมมอธอีกหลายชนิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างแมมมอธกับช้างเอเชีย ญาติใกล้ชิดที่สุดของมัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเดียวกันที่มีชีวิตอยู่ราว 5 ล้านปีที่ผ่านมา ก่อนแยกสายวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน

ดีเอ็นเอของแมมมอธสกัดได้จากขนของซากแมมมอธ 2 ตัวที่พบในไซบีเรียเมื่อหลายปีก่อน ตัวหนึ่งตายไปราว 20,000 ปีที่ผ่านมา อีกตัวตายไปเมื่อ 60,000 ปีก่อน

แมมมอธใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งทุนดรา ยุคน้ำแข็ง ก่อนที่จะล้มตายไปเกือบทั้งหมด เมื่อธารน้ำแข็งละลายซึ่งเกิดขึ้นราว 10,000 ปีที่ผ่านมา มีหลงเหลือรอดอยู่เพียงไม่กี่ตัวบนเกาะแรงเกิล นอกชายฝั่งไซบีเรีย จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากโลกโดยสมบูรณ์เมื่อราว 3,700 ปีก่อน

การค้นพบหน่วยพันธุกรรม (ยีน) หลายตัวที่ไม่เหมือนของช้างเอเชียในปัจจุบัน ช่วยสร้างความเข้าใจว่าแมมมอธใช้ชีวิตอยู่ในภาวะอากาศหนาวเย็นจัดได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีนที่ทำหน้าที่สร้างขนยาวหนาหยิกม้วนเป็นลอน ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บความร้อน เช่นเดียวกับยีนที่ทำให้มันมีหูขนาดเล็ก หางสั้น ซึ่งช่วยลดการสูญเสียความร้อนได้มากกว่าหูขนาดใหญ่และหางยาว อย่างเช่นช้างเอเชียในปัจจุบันที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือระบายความร้อน

นอกจากนั้นยังมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างออกไป ซึ่งให้มันสามารถเก็บกักไขมันและมีอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กำกับการใช้น้ำตาลในเลือดมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน อินซูลินของแมมมอธมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนไขมันให้กลายเป็นพลังงาน ที่ช่วยให้มันสามารถใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ -50 องศาเซลเชียสได้ และยังมีอวัยวะรับรู้อุณหภูมิที่ถูกลดความอ่อนไหวลง ทำให้ไม่อ่อนไหวต่อภาวะร้อนจัดและหนาวจัด

การจำแนกพันธุกรรมทั้งหมดไม่ใช่ส่วนที่ยากที่สุดในการสร้างแมมมอธขึ้นมาใหม่ ส่วนที่ยากที่สุดเป็นการประกอบทุกส่วนของพันธุกรรมเข้าด้วยกันแล้ว ทำให้สามารถทำงานได้เหมือนหน่วยพันธุกรรมตามธรรมชาติ จอร์จ เชิร์ช นักพันธุวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่กำลังทำงานอยู่กับโครงการนำสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมา ชี้ว่าหนทางที่ดีที่สุดไม่ใช่การสร้างแมมมอธ 100 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมา แต่เป็นการนำเอาลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างของแมมมอธมาใช้ประโยชน์

ทีมของจอร์จ เชิร์ช กำลังใช้เทคนิคที่เรียกว่า “การตัดแปะทางพันธุกรรม” หรือ “ซีอาร์ไอเอสพีอาร์” คือการนำเอายีนแมมมอธบางส่วนมาใส่ให้ในเซลล์ของช้างเอเชีย

ผลลัพธ์ที่ได้จะเปลี่ยนช้างเอเชียให้มีรูปร่างลักษณะ พฤติกรรม และความสามารถในการปรับตัวกับความหนาวเย็นได้ดีขึ้น ซึ่งเชิร์ชเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการอยู่รอดของช้างเอเชีย

เพราะสามารถขยายพื้นที่อยู่อาศัยของช้างเอเชียขึ้นเหนือไปสู่พื้นที่หนาวเย็นได้มากขึ้น ลดความขัดแย้งกับมนุษย์ลงนั่นเอง

เรื่องน่าสนใจ