ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อสมาชิกเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ล่าฝันที่ปลายฟ้า อุทิศตนเพื่อสังคม ได้เผยแพร่ภาพเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บติดอยู่ภายในรถ และมีชายคนหนึ่งพยายามเข้าช่วยเหลือ โดยการใช้เท้าเหยียบไปที่บริเวณหน้าอกของผู้บาดเจ็บเพื่อทำการปั๊มหัวใจ

EyWwB5WU57MYnKOuXuXRt6o638OTaX9fUf9hmZB0X9djZFyhwfERPn

หลังจากภาพนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดความสงสัยว่า การใช้เท้าปั๊มหัวใจเป็นการกระทำที่ถูกต้องจริงหรือไม่ ขณะที่บางส่วนให้ความเห็นว่า บางสถานการณ์ก็จำเป็นจะต้องใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

ล่าสุด นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือ หมอแมว แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า สามารถปั๊มหัวใจด้วยเท้าได้จริง แต่จะใช้ในสถานการณ์คับขัน

เวลาคนหัวใจหยุดเต้น สิ่งที่ควรทำคือนวดหัวใจ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองการนวดที่ดีคือ กดหน้าอกให้ลึกลงไป 2-3นิ้ว เร็ว 100 ครั้งต่อนาที แต่ปัญหาที่เราทราบกันดีคือ คนไทยนวดหัวใจเป็นน้อยมาก และจากงานวิจัยก็พบว่า หากนวดคนเดียวติดต่อกันเกิน 2 นาที แรงจะหมด และหลังจากนั้นก็จะเริ่มกดไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีการคิดวิธีนวดหัวใจด้วยการใช้เท้า แม้ไม่ใช่มาตรฐานที่ควรทำ แต่ก็ใช้ได้ในยามคับขัน เช่น เวลาอยู่ 2 คน ขอความช่วยเหลือใครไม่ได้ หรือขอแล้วไม่มีคนกล้าช่วย หรือในยามเกิดภัยพิบัติ ตึกถล่ม ช่องที่เข้าไปถึงตัวคนเจ็บแขนไม่ถึง หรือถูกอัดทับเคลื่อนย้ายไม่ได้จริงๆ

“การปั๊มหัวใจต้องทำในทันทีที่หัวใจหยุดเต้น หากรอช้าคนไข้อาจตายหรือพิการได้ แต่ทั้งนี้ใครจะทำแบบนี้ควรมีความรู้ในการนวดหัวใจ เพราะต้องวางส้นเท้าให้ถูก ต้องกะแรงให้ดี และต้องมีความกล้า เพราะไทยเรายังเป็นดินแดน ที่แม้หมอพยาบาลจะปั๊มหัวใจคนที่จมน้ำไม่ให้อุ้มพาดบ่า หรือห้ามไม่ให้เอาช้อนงัดปากคนชัก ยังสามารถถูกด่าประณามได้ ดังนั้นก็ต้องกล้าบ้าบิ่นพอสมควร”

นวดหัวใจด้วยเท้า ทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ยามคับขันเวลาคนหัวใจหยุดเต้น สิ่งที่ควรทำคือ นวดหัวใจ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมอง…

Posted by ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว on Friday, July 17, 2015

ด้าน นพ.วิทวัส ศิริประชัย ผอ.โรงพยาบาลเกาะลันตา หรือ จ่าพิชิต เจ้าของแฟนเพจดราม่าแอดดิกที่ชาวเน็ตรู้จักกันดี ก็ได้โพสต์ข้อความเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพดังกล่าว โดยระบุว่า

“การปั๊มหัวใจด้วยเท้าสามารถทำได้จริง และควรรีบทำหากอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้บาดเจ็บไม่หายใจหรือไม่มีชีพจรแล้ว แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บได้ออกนอกรถยนต์ได้ การปั๊มหัวใจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ หากเข้าไปปั๊มหัวใจด้วยมือไม่ได้ จะใช้อะไรกดหน้าอกก็ได้ ขอให้ทำให้ได้ตามหลักการคือปั๊มให้ได้ 100 ครั้ง/นาที โดยกดให้หน้าอกตรงตำแหน่งกระดูกลิ้นปี่ส่วนล่าง บุ๋มลงไปให้ได้อย่างน้อย 2 นิ้ว แล้วปล่อย”

นอกจากนี้ นพ.วิทวัส ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ขอชื่นชมพลเมือง ดีในภาพที่ไม่ย้ายผู้บาดเจ็บออกนอกตัวรถ เพราะคนที่ได้รับอุบัติเหตุกระแทก ที่คอหรือศีรษะ อาจอยู่ในอาการกระดูกต้นคอร้าว เคลื่อน หรือหัก ซึ่งหากเราไปขยับโดยพลการ ก็อาจทำให้กระดูกที่หักนั้นขยับไปถูกไขสันหลังจนเสียหาย อันตรายถึงขั้นพิการตลอดชีวิตได้ ซึ่งในกรณีที่เจอผู้บาดเจ็บที่คอหรือศีรษะ หรือไม่รู้สึกตัว สิ่งสำคัญที่สุดก่อนเคลื่อนย้ายคือ ต้องหาอะไรมาดามคอให้อยู่นิ่งที่สุด มิฉะนั้นการเคลื่อนย้ายคนเจ็บด้วยเจตนาดี อาจเป็นการทำร้ายคนเจ็บไปชั่วชีวิต”

เคสใช้เท้า CPR เมื่อตะกี้มีข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ครับ ลุงคนที่ทำเห็นว่าไม่ใช่กู้ภัย แกเป็นพลเมืองดีที่ผ่านไปมาเห็นอุบัตเ…

Posted by Drama-addict on Friday, July 17, 2015

เรื่องน่าสนใจ