ช่วงนี้กระแสปั่นจักรยานกำลังมาแรง ทำให้มีหลายหน่วยงานในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจัดสรรงบประมาณ สร้างทางจักรยานมารองรับ ล่าสุด “ทช.-กรมทางหลวงชนบท” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ก็ไม่ตกขบวน เตรียมทุ่มเม็ดเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท สร้างทางจักรยานด้วยยางพาราที่ว่ากันว่า ยาวที่สุดในเอเชีย ด้วยระยะทางรวม 184.4 กิโลเมตร มี “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” เจ้ากระทรวงเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการ
สำหรับแนวเส้นทางจะพาดผ่าน 5 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี มุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3214 (เส้นทางข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี มาสิ้นสุดที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ถนนที่จะใช้ทำทางจักรยาน ระยะทาง 184.4 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของ 3 หน่วยงาน คือ กรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 124.8 กิโลเมตร กรมทางหลวง ระยะทาง 55 กิโลเมตร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระยะทาง 5 กิโลเมตร ขณะนี้กรมทางหลวงชนบท อยู่ระหว่างสำรวจและออกแบบในส่วนที่รับผิดชอบ
ขณะนี้โครงการมีความก้าวหน้าแล้วประมาณ 20% คาดว่าภายในสิ้นปีนี้แบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะขอจัดสรรงบประมาณและเริ่มก่อสร้างในปี 2559 และแล้วเสร็จในปี 2560 คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับก่อสร้างประมาณ 1,500 ล้านบาท ในเบื้องต้นอาจจะต้องของบฯกลางมาดำเนินการก่อนบางส่วนเพื่อเริ่มโครงการ
สำหรับรูปแบบทางจักรยาน “พล.อ.อ.ประจิน” กล่าวว่า จะแยกช่องทางจักรยานกับถนนอย่างชัดเจน มีการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้ จะสร้างจุดพักรถขนาดเล็กทุก ๆ 5-10 กิโลเมตร และจุดพักรถขนาดใหญ่ทุก ๆ 15-20 กิโลเมตร ที่จะให้ทางท้องถิ่นมาร่วมพัฒนา ที่สำคัญทุก ๆ กิโลเมตรจะมีป้ายสัญลักษณ์จราจรและป้ายสัญลักษณ์เพื่อสุขภาพ สำหรับให้นักปั่นได้ดูระหว่างทาง หากเปิดใช้เส้นทางนี้นอกจากจะเป็นทางจักรยานเพื่อเป็นพื้นที่สันทนาการให้ประชาชนได้ใช้ออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศด้วย เนื่องจากตลอดเส้นทางทั้ง 5 จังหวัด จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานมากมายกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนชาวสวนยางพารา เพราะผิวทางจักรยานจะปูด้วยพาราแอสฟัลท์หนาประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งมียางพาราผสมอยู่ประมาณ 5%