สาธารณสุขยกร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ เน้น “เปิดช่องธุรกิจ-คุ้มครองผู้บริโภค” แต่เพิ่มโทษผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมาย-โฆษณาเกินจริง มีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ…. (ยังไม่มีการระบุว่าจะเริ่มใช้เมื่อไร) ได้ผ่านความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องยกร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ เนื่องจากประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงที่จะปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับสากล รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับนี้เน้นมาตรการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องสำอางตามมาตรฐาน ของประเทศคู่ค้าได้ แต่ต้องไม่มีการนำมาขายในประเทศ
ส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึง ประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องสำอาง มีมาตรการเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้จากท้องตลาด กำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางนำเข้า มีการกำหนดอายุใบรับจดแจ้งไว้ 3 ปี และยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางได้ในกรณีที่เป็นเครื่อง สำอางที่มีการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
นพ.บุญชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้เพิ่มโทษสำหรับผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมายแรงกว่าเดิม เช่น ผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้เป็นส่วนผสม ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้เป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
ขณะที่ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า การโฆษณาในเคเบิลทีวีหรือวิทยุต่างๆ ในส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะให้ผู้ประกอบการบันทึกเทปรายการที่ออกอากาศส่งต้นฉบับให้พิจารณา
จากนี้ อย.ได้ประสานความร่วมมือกับ กสทช.เขตให้ดำเนินการกับเคเบิลทีวีและวิทยุในส่วนภูมิภาคด้วย แล้วส่งเทปให้ อย.พิจารณาว่ามีการใช้ข้อความหรือถ้อยคำที่เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ทั้งในส่วนที่เป็นโฆษณาและการพูดในเนื้อรายการ หากพบมีการใช้ข้อความเกินจริงจะมีความผิดทั้งผู้นำเสนอที่เป็นพิธีกรรายการ หรือดารานักแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง