ที่มา: tnnthailand

สตช.เผยผลDNA ชี้ชัด “ไมไรลี ยูซุฟู” ไม่ใช่ชายเสื้อเหลืองวางระเบิดราชประสงค์ แต่เป็นหนึ่งในขบวนการแน่นอน

033194

วันนี้(4ก.ย.58)ความคืบหน้าเหตุระเบิดราชประสงค์และท่าเรือสาทร ล่าสุด ฝ่ายความมั่นคงเตรียมส่งตัวนายเอเดม คาราดัค ผู้ต้องสงสัย ที่จับกุมได้พร้อมวัตถุระเบิดและอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากที่พูลอนันต์อพาร์ทเม้นย่านหนองจอก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ให้กับกองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวนดำเนินคดีในเวลาประมาณ 15.00น. หลังควบคุมตัวครบ 7 วันตามมาตรา 44

ด้านพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปผลการตรวจดีเอ็นเอ เปรียบเทียบระหว่าง วัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ ทั้งธนบัตร ที่ยึดได้จากคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างคันที่รับผู้ต้องหาชายเสื้อสีเหลืองในวันเกิดเหตุ รถแท็กซี่ และเศษกระเป๋าเป้ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ

ซึ่งเป็นเป้ที่ผู้ต้องหาสะพายมาวางไว้ พบว่าไม่ตรงกับDNAของ นายไมไรลี ยูซุฟู อายุ 26 ปี สัญชาติจีน ผู้ต้องหา ที่ถูกควบคุมตัวมาจากจังหวัดสระแก้ว จึงเชื่อได้ว่านายไมไรลี ยูซุฟู ไม่ใช่มือวางระเบิด แต่ยืนยันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการวางระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทรแน่นอน เนื่องจากลายนิ้วมือนายไมไรลี ไปตรงกับลายนิ้วมือแฝงบนกระป๋องที่ใช้ประกอบระเบิด ในอพาร์ทเม้นย่านหนองจอง และยังตรงกับของใช้ อาทิ แปรงสีฟัน ที่อพาร์ทเม้นไมมูณา การ์เด้น ย่านมีนบุรีด้วย

ขณะเดียวกันจากการเข้าค้นบ้านเช่าแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี เมื่อวานที่ผ่านมาและพบแกลอนบรรจุน้ำสารเคมี จำนวน 10 ถัง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นสารเคมีดังกล่าว ไม่ใช่สารที่ใช้ประกอบระเบิด แต่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด พร้อมกับยืนยันไม่ใช่บ้านเช่าของนางสาววรรณา สวนสัน หรือไมซาเลาะ ผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่มีพยานเคยพบเห็นนางสาววรรณา เดินทางเข้าออก อยู่บ่อยครั้ง และถึงแม้การค้นบ้านหลังกล่าวจะไม่พบสารประกอบระเบิด แต่ตำรวจเชื่อว่าเป็น 1 ในบ้านของของขบวนการวางระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร ที่ใช้สำหรับเก็บของ

ด้านพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระบุสัญชาติผู้ต้องสงสัยในคดีระเบิด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะแม้บุคคลต้องสงสัยอาจมีสัญชาติดังกล่าว แต่ทางประเทศที่เกี่ยวข้อง อาจไม่ได้ให้การสนับสนุน และเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เจาะจงไปที่ชาวอุยกูร์ ขอให้สื่อมวลชนอย่าวิเคราะห์ไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ และการเสียผลประโยชน์จากการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง แต่ขอให้รอการพิสูจน์หลักฐานเพื่อความชัดเจน ไม่ให้เกิดความสับสน ซึ่งทางสถานทูตตุรกีก็ออกมายืนยันว่า ผู้ต้องสงสัยไม่ใช่พลเมืองของตุรกี เนื่องจากหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ตที่พบเป็นของปลอม

เรื่องน่าสนใจ