สถานการณ์ “ฆ่าตัวตาย” ทั่วโลกพุ่ง ไทยเฉลี่ย 1 คน ทุก 2 ชั่วโมง จิตแพทย์แนะกลุ่ม “อ่อนไหว-เปราะบาง” เลี่ยงเข้าสังคมออนไลน์ เหตุกระตุ้นให้ยิ่งทำร้ายตนเอง
เมื่อวันที่ 10 กันยายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกร้อยละ 1.4 หรือกว่า 800,000 คนต่อปี คิดเป็น 11.69 ต่อประชากรแสนคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี 2563 สำหรับประเทศไทย ปี 2557 พบอัตราฆ่าตัวตาย 6.08 ต่อประชากรแสนคน ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละกว่า 3,900 คน เฉลี่ย 1 คน ทุก 2 ชั่วโมง ผู้ชายฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง 3 เท่า และเป็นกลุ่มอายุ 35-39 ปี มากที่สุดแม้จะอยู่ในเป้าหมายที่ไม่เกิน 6.5 ต่อแสนประชากร และภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะ จ.ลำพูน
นพ.ปิยะสกลแถลงอีกว่า ในการป้องกันเน้น
1.กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าซึ่งเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงที่สุด
2.กลุ่มฆ่าตัวตายด้วยความหุนหันพลันแล่น ซึ่งพบว่ากลุ่มที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่ทำเพราะความหุนหัน มีสุราและปัญหาครอบครัวเป็นตัวกระตุ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ฯลฯ ที่มีมากถึง 16 ล้านคน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ยิ่งเข้าถึงโลกออนไลน์มากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการทำร้ายตนเอง/ฆ่าตัวตายจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มที่จิตใจอ่อนไหว เปราะบาง
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงว่า สำรวจพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของคนไทยใน 12 เขตสุขภาพ รอบ 3 ปี พบอัตราการฆ่าตัวตายในเขตบริการสุขภาพที่ 1, 8 และ 9 ซึ่งเป็นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากความขัดแย้งในครอบครัว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงคล้ายกันคือเกิดจากความน้อยใจ โดยผู้หญิงจะมีเรื่องความรัก เช่น หึงหวง ผิดหวังในความรัก ส่วนผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มีร้อยละ 3 จะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 2 จะทำร้ายคนอื่นก่อนฆ่าตัวตาย ซึ่งก่อนลงมือมักมีสัญญาณเตือน
“ผู้ที่ฆ่าตัวตายเกือบครึ่งจะแสดงท่าทีหรือสัญญาณเตือนบอกเหตุแก่ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดก่อน ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 1 เดือน ซึ่งจะพบมากที่สุดในช่วง 3 วันแรกก่อนการเสียชีวิต และร้อยละ 79 จะมีเหตุกระตุ้นก่อน เช่น ดื่มสุรา ทะเลาะกับคนใกล้ชิด ฯลฯ ในการป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายจากสื่อสังคมออนไลน์นั้น ขอให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยยึดหลัก 4 อย่า และ 3 ควร
ได้แก่
1. อย่าท้าทาย เช่น “ทำเลย” “กล้าทำหรือเปล่า”
2. อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย เช่น “โง่” “บ้า”
3. อย่านิ่งเฉย
4. อย่าส่งข้อความ หรือเผยแพร่ภาพการฆ่าตัวตาย
แต่ 1. ควรห้ามหรือขอให้หยุดพฤติกรรม
2.ควรชวนคุย ประวิงเวลาให้มีโอกาสทบทวน และ
3. ควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดผู้ที่คิดฆ่าตัวตายที่สุดขณะนั้น” นพ.เจษฎากล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงว่า ช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น คือ อายุ 35-39 ปี โดยพบว่าอายุต่ำสุดคือ 10 ขวบ สูงสุด 93 ปี แต่อายุ 35-39 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น