ที่มา: tnnthailand

กรมควบคุมโรคเตือน”สุนัข-แมว” กัดข่วนให้รีบพบแพทย์ หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 4 ราย

03377f

วันนี้ (12ก.ย.58) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 11 สิงหาคม 2558 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 4 ราย โดยเป็น จ.ศรีสะเกษ 2 ราย และจ.ชลบุรี 2 ราย

นพ.โอภาส กล่าวว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อประชาชน โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกแล้วมากกว่า 60,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสุนัขและแมวกัดหรือข่วน แล้วไม่ได้รับการรักษาหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างถูกต้อง โดยในจำนวนนี้ ประชากรเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคมากที่สุด

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำนี้ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ซึ่งอยู่ในสัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ แต่สัตว์พาหะที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข โดยการติดเชื้อจะเกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือถูกน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของเชื้อที่ได้รับ

อาการของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า จะเริ่มจาก 2-3 วันแรก เช่น เบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

ส่วนสัตว์ที่ติดเชื้อนั้น ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่น มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป

เรื่องน่าสนใจ