เนื้อหาโดย : โดดเด่นดอทคอม
ลูกใต้ใบ หรืออาจเรียกว่า มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ), หญ้าใต้ใบ (นครสวรรค์ อ่างทอง ชุมพร), หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฎร์ธานี),ไฟเดือนห้า (ชลบุรี), หมากไข่หลัง (เลย), จูเกี๋ยเช่า (จีน) เติบโตได้ดีในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย และยังกระจายอยู่ในหลาย ๆ ประเทศเขตร้อน ทั้งในบราซิล เปรู หมู่เกาะคาริบเบียน สหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา ทวีปแอฟริกา
ลูกใต้ใบ มีรสขมมาก พืชชนิดนี้หาไม่ยาก แต่คนมักไม่สนใจไม่รู้จัก จึงทำลายทิ้ง หากทราบประโยชน์ของมันอย่างนี้แล้ว คราวหน้าถ้าเห็น ก็ควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ แถมยังเป็นสมุนไพรยอดนิยมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพราะช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีประโยชน์ในการขับนิ่ว และลดความดัน
สำหรับสาว ๆ ที่เป็นไข้ระหว่างมีประจำเดือน แนะนำให้นำต้นใต้ใบนี้มามัดรวมแล้วต้มดื่มน้ำ หรือนำหญ้าใต้ใบมาล้างน้ำให้สะอาด ตำละเอียดผสมสุรา คั้นเฉพาะน้ำยา กินครั้งละ 1 ถ้วยชาก็ได้ ข้อควรระวังก็คือ ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะลูกใต้ใบเป็นยาขับประจำเดือน
สรรพคุณแรก ๆ ของลูกใต้ใบที่คนรู้จักกันมากที่สุด คือ ใช้แก้ไข้ มันสามารถใช้แก้ไช้ได้ผลดีเยี่ยม ลูกใต้ใบ จึงมักเป็นสมุนไพรที่พระธุดงค์ มักพกติดตัวในยามออกธุดงค์ เพื่อแก้ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากอากาศที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ลูกใต้ใบ ยังสามารถแก้ไข้จากการอ่อนเพลีย ไข้จับสั่น ได้อีก โดยวิธีการใช้จะนำลูกใต้ใบไปตากแห้งเก็บใส่โหลไว้ เพื่อชงเป็นชาดื่มเวลาเกิดอาการ
สรรพคุณและประโยชน์ของ “ลูกใต้ใบ”
- แก้ปวด แก้อักเสบ แก้ร้อนใน นอกจากลูกใต้ใบจะสามารถแก้ไข้ได้แล้ว
- แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อย โดยนำลูกใต้ใบมาล้างน้ำ และสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้ง ต้มใส่หม้อดิน นำมาดื่มแทนน้ำชา ยังมีงานวิจัยพบว่า ลูกใต้ใบสามารถแก้อาการปวดข้ออาการอักเสบต่าง ๆ ได้
- บำรุงตับ ลดอาการตับอักเสบ สารสกัดจากลูกใต้ใบมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ เช่น เหล้า ช่วยรักษาอาการอักเสบของตับทั้งประเภทเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ยังช่วยปรับไขมันในตับให้เป็นปกติ และยังช่วยให้เซลล์มะเร็งตับเติบโตช้าลง แต่ไม่ได้ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง
- ควบคุมระดับน้ำตาล เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดของลูกใต้ใบมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่มีข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานว่า ต้องรับประทานยาแผนปัจจุบันตามแพทย์สั่ง และหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอด้วย
- ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ลดความดัน นอกจากนี้ยังนำลูกใต้ใบไปใช้รักษาอาการมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ลดอาการบวม ช่วยคนที่เป็นโรคเก๊าท์ขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะ
- ขับประจำเดือน สำหรับคุณผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ ลูกใต้ใบ ยังเป็นยาชั้นดีในการช่วยขับประจำเดือนได้อีกด้วย โดยนำต้นลูกใต้ใบมาต้มกิน แต่หากประจำเดือนมามากกว่าปกติ ให้นำรากสดของลูกใต้ใบมาตำผสมกับน้ำซาวข้าวกินจะช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ส่วนผู้ที่เป็นไข้ทับระดู ก็นำลูกใต้ใบทั้ง 5 มาล้างน้ำสะอาด นำมาตำผสมเหล้าขาว คั้นเฉพาะน้ำยามาดื่นครั้งละ 1 ถ้วยชา
- แก้อาการนมหลง สำหรับหญิงที่คลอดบุตรแล้วน้ำนมเกิดหยุดไหล หลังจากเคยไหลมาแล้ว จะเกิดอาการปวดเต้านม ซึ่งเรียกว่า อาการนมหลง ถ้าปล่อยไว้อาจกลายเป็นฝีที่นมได้ ให้นำลูกใต้ใบทั้ง 5 จำนวน 1 กำมือมาตำผสมเหล้าขาว คั้นเอาน้ำ ดื่ม 1 ถ้วยชา แล้วเอากากพอก ก็จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้
- รักษาแผล ในอินเดียนิยมนำลูกใต้ใบมาตำพอก หรือตำแล้วคั้นเอาน้ำมาทารักษาแผลสด แผลฟกช้ำ แต่หากเป็นแผลเรื้อรังจะใช้ใบตำผสมน้ำซาวข้าวมาพอกได้
- แก้อาการคัน ตำใบของลูกใต้ใบผสมกับเกลือ แล้วนำมาทาจะช่วยแก้คันได้
- แก้เริม ใช้ลูกใต้ใบทั้งห้า ตำผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำยา จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำยามาแปะตรงที่เป็นเริม เพื่อให้รู้สึกเย็น แล้วจะหายปวด
- แก้ฟกช้ำ แก้ฝี ใช้ต้นสด ๆ ตำผสมกับเหล้า แล้วนำมาพอกแก้ฟกช้ำ ปวดบวมได้
- ช่วยแก้อาการไอ ใบอ่อนใช้เป็นยาแก้ไอสำหรับเด็ก
- ช่วยแก้หืด ด้วยการใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบ นำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอุ่น แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละ 2-3 อึก วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกิน
- ช่วยขับเหงื่อ โดยใช้หญ้าใต้ใบ นำต้มกิน และยังช่วยลดไข้ได้ด้วย
- ช่วยขับเสมหะ
ข้อควรระวัง
- ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะลูกใต้ใบเป็นยาขับประจำเดือนซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับหญิงมีครรภ์ได้
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับควรศึกษาให้ละเอียด และปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาสมุนไพร เพราะอาจเกิดผลไม่ดีต่อสุขภาพได้
ลูกใต้ใบ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่เหมาะสมกับบางบุคคลเช่นกัน เพราะฉะนั้น โดดเด่นขอแนะนำว่า การจะหาสมุนไพรชนิดไหนมารับประทาน ควรหมั่นตรวจสอบสุขภาพตัวเองสักนิดนะคะ ว่าร่างกายของเราแพ้อะไรหรือเปล่า บางครั้งอาจได้ปนะโยชน์กับคนอื่น แต่อาจจะให้โทษกับเราก็ได้
ข้อมูลจาก wikipedia, kapook, ความรู้เรื่องอาหารและสุขภาพ,