ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์นำปชช.ทำความสะอาดคราบน้ำมันชายหาดหัวหิน อยู่ระหว่างตรวจสอบแหล่งที่มา
วันนี้ (28 ต.ค. 58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมวดบินเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 ขึ้นบินสำรวจคราบน้ำมันที่ลอยมาติดชายฝั่งหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา พบคราบน้ำมันบนชายฝั่งตั้งแต่เขตพระราชวังไกลกังวล สวนสนประดิพัทธ์ เขาตะเกียบ จนถึงชายหาดหัวหิน รวมระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร และพบคราบน้ำมันในทะเลห่างจากชายฝั่งหัวหินออกไปประมาณ 1 ไมล์ทะเล มีลักษณะใส บางส่วนเป็นสีดำ เกาะกลุ่มเป็นแนวยาว 3-4 ไมล์ทะเล ซึ่งคาดว่าจะถูกคลื่นซัดเข้าชายหาดในไม่ช้า
พล.ร.ท.รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 1 ได้สำรวจผลกระทบความเสียหาย พร้อมสกัดกั้นไม่ให้คราบน้ำมันกระจายตัวเป็นวงกว้าง และส่งกำลังพลเข้าสบทบหน่วยงานในพื้นที่เก็บกู้คราบน้ำมันจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ด้าน นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำกำลังตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และประชาชนกว่า 500 คน ร่วมกันทำความสะอาด เก็บกวาดคราบน้ำมันที่ลอยมาติดบริเวณชายหาดหัวหิน โดยระบุว่า ปริมาณคราบน้ำมันมีน้อยกว่าที่คาด ทำให้มั่นใจว่าหากไม่มีคราบน้ำมันเข้ามาเพิ่มอีกระลอก จะสามารถเก็บคราบน้ำมันได้แล้วเสร็จภายใน 1-2 วัน และเปิดหาดให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าของน้ำมันที่สร้างความเดือดร้อนในครั้งนี้
ด้าน นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบข้อมูล ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย พบว่า ไม่มีเหตุน้ำมันรั่วจากกิจกรรมการขุดเจาะการผลิต หรือการขนถ่ายน้ำมันดิบของผู้ผลิตในอ่าวไทย โดยทางกรมฯได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดินบริเวณเขาตะเกียบ ส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการประเทศเบลเยี่ยม เพื่อพิสูจน์ว่าน้ำมันดังกล่าวมาจากแหล่งในอ่าวไทยหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลใน 4 ถึง 6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามจากข้อสันนิษฐานเบื้องต้น มีปัจจัยที่อาจก่อเกิดก้อนน้ำมันดิน อาทิ น้ำมันรั่วจากเรือ หรือจากแหล่งปิโตรเลียม การสะสมของคราบน้ำมันจากแหล่งต่างๆ แต่ที่ทางกรมฯให้น้ำหนักมาที่สุดคือ จากการปล่อยน้ำเสียของเรือลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเดินเรือ 12 ไมล์ทะเลซึ่งสามารถทำได้ แต่ในช่วงมรสุมทำให้เกิดการพัดพาเอาตะกอนน้ำมันดินขึ้นมาเหนือผิวน้ำ และถูกพัดพาเข้ามายังชายฝั่ง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบที่มาของน้ำมันให้แน่ชัดต่อไป