กรณีปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยของ จ.เชียงใหม่ ทั้ง 25 อำเภอ พื้นที่ อ.เมือง มีปริมาณขยะวันละกว่า 360 ตัน ขณะที่ภาพรวมทั้ง 25 อำเภอ มีปริมาณขยะวันละกว่า 1,700 ตัน การจัดการร้อยละ 80 ยังใช้วิธีการจัดจ้างเอกชนเข้ามาขนขยะนำไปกำจัด ในขณะที่แนวโน้มปริมาณขยะยังจะเพิ่มมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นปัญหาวิกฤติขยะล้นเมืองได้ในอนาคตอันใกล้นี้ซึ่ง จ.เชียงใหม่ ได้แบ่งการจัดการบริหารขยะออกเป็น 3 โซน และได้ประชุมระดมความคิดเห็นที่จะทำแผนจัดการขยะทั้ง 3 โซน
โดยใช้ระบบการกำจัดในรูปแบบจะเผาหรือฝังกลบ มีโซนเหนือที่ อ.ฝาง โซนกลางที่ อ.ดอยสะเก็ด โดยทั้งสองโซนนี้จะต้องเปิดใช้งานให้ได้ก่อนและโซนใต้ที่ อ.ฮอด ขยะทั้ง 3 โซนที่น่าจับตาดูมากที่สุดก็คือโซนกลาง ได้สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยหมักจากของเหลือใช้ตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของ อบจ.เชียงใหม่ ที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 466 ล้านบาท บนพื้นที่ 113 ไร่ ที่บ้านป่าตึงน้อย ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่รับขยะทั้ง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สันกำแพง และ อ.แม่ออน ที่ทางอบจ.เชียงใหม่จะเป็นผู้ดำเนินการสร้างเมื่อปี 2549 เปิดใช้มาแล้วแต่การจัดระบบในช่วงหลังไม่ดีพอ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนในเรื่องกลิ่นเหม็นจนต้องยุติลง แต่ในปัจจุบันนี้กลับจะมีการเข้าไปฟื้นฟูโดยทาง อบจ.เชียงใหม่ เพื่อจะเปิดเป็นโซนกลางจัดการขยะ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ขึ้นป้ายข้อความต่อต้านบ้างแล้ว
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านป่าตึงน้อย หมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่มีการตั้งโรงงานกำจัดขยะโซนกลางของ จ.เชียงใหม่ พบว่าในหมู่บ้านมีการขึ้นป้ายผ้าระบุไม่เอาขยะ 3 จุดที่ป่าทางเข้าหมู่บ้าน และปากทางเข้าโรงงานคัดแยกขยะของ อบจ.เชียงใหม่ โดยสภาพโรงงานอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูเป็นโกดังมิดชิดทั้ง 3-4 หลัง ทางชาวบ้านได้บอกเพียงว่าไม่ต้องการขยะเข้ามาทิ้งในโรงงานแห่งนี้อีก
นายธัญญา ภาวะเดช นายกเทศมนตรีตำบลป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เผยว่า ในเรื่องขยะที่จะนำมากำจัดที่โรงงานกำจัดขยะบ้านป่าตึงน้อย ซึ่งโรงขยะแห่งนี้เป็นงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะถือว่าเป็นนโยบายของ คสช. เป็นวาระแห่งชาติ ในเชียงใหม่มี 3 โซน โซนเหนือ โซนกลางและโซนใต้ ในพื้นที่ ต.ป่าป้อง เป็นโซนกลาง มีโรงขยะที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2549 มูลค่า 466 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่โรงขยะได้ดำเนินการเปิดมาได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโรงขยะเกิดขึ้นมาในพื้นที่มีผลกระทบต่อเขา
ดังนั้น เมื่อจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งชาวบ้านจึงไม่ต้องการ เพราะทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในโรงงานขยะแห่งนี้ แต่ถ้าจะมาจริงๆก็ต้องมีทางผู้หลักผู้ใหญ่จากส่วนกลางต้องมาคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าถ้ามาจะต้องไม่มีผลกระทบใดๆ จึงขอฝากผู้หลักผู้ใหญ่ทางส่วนกลางที่ดูแลเรื่องนี้ ก่อนที่โรงขยะจะเข้ามาก็ขอให้มาคุยกับชาวบ้านก่อน ชาวบ้านพร้อมที่จะรับฟังด้วยเหตุด้วยผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย.