ที่มา: voicetv

พบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดใหม่ในมลรัฐมอนแทนา ถือเป็นรอยต่อในสายวิวัฒนาการเมื่อราว 80 ล้านปีก่อน คาดหงอนบนหัวมีไว้จดจำพวกเดียวกัน

940152

นักวิทยาศาสตร์ประกาศการค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดใหม่ เรียกว่า โปรบราคีโลโฟซอรัส เบอร์กี (Probrachylophosaurus bergei)ซึ่งเคยมีชีวิตเมื่อ 79.5 ล้านปีก่อน ในดินแดนที่กลายเป็นมลรัฐมอนแทนาในปัจจุบัน

เจ้าตัวนี้ได้ฉายาว่า “ซูเปอร์ดักต์” หรือ “เป็ดยักษ์” ด้วยลำตัวยาว 9 เมตร น้ำหนักกว่า 5 ตัน บนกะโหลกมีหงอนเป็นกระดูกรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ไดโนเสาร์ปากเป็ดเป็นพวกกินพืช

ในยุคครีเตเชียสตอนปลาย มีไดโนเสาร์ปากเป็ดหลายชนิด หงอนบนหัวมีหลายแบบหลายขนาด สำหรับ Probrachylophosaurus นี้ ถือว่าเป็นพวกแรกๆที่ปรากฏหงอนบนหัว การค้นพบนี้ช่วยเติมช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของหงอน

เอลิซาเบธ ฟรีดแมน ฟาวเลอร์ ภัณฑารักษ์แผนกบรรพชีวินวิทยา พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์เกรตเพลน ในเมืองมอลตา มลรัฐมอนแทนา บอกว่า กระดูกกะโหลกของโปรบราคีโลโฟซอรัส เหมือนกับของเอคริสเทวุส (Acristavus) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่เคยมีชีวิตเมื่อ 81 ล้านปีก่อน และเหมือนกับของบราคีโลโฟซอรัส (Brachylophosaurus) ซึ่งเป็นลูกหลานที่เคยมีชีวิตเมื่อ 78 ล้านปีก่อน

เอคริสเทวุสไม่มีหงอน กระหม่อมแบน ส่วนบราคีโลโฟซอรัสมีหงอนแบนใหญ่ รูปร่างคล้ายครีบ ทอดตัวคลุมตลอดทั้งกะโหลก ดังนั้น โปรบราคีโลโฟซอรัสจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของวิวัฒนาการ นับเป็นชนิดในช่วงเปลี่ยนผ่านของไดโนเสาร์ปากเป็ด

ทีมวิจัยบอกว่า หงอนของพวกมันมีไว้สำหรับกำหนดจดจำพวกเดียวกัน และเป็นเครื่องหมายบ่งบอกวัยด้วย

รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS ONE.

เรื่องน่าสนใจ