กรมทางหลวง เล็งขึ้นค่ามอเตอร์เวย์ สายชลบุรี-วงแหวนกาญจนาฯ เป็นก.ม.ละ 1.50 บาท หลังหลายหน่วยชงเสนอ ระบุไม่ได้ขึ้นมานาน 15 ปี และต้องการลดภาระงบประมาณ จ่อตั้งกองทุนระดมเงิน
เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า หน่วยงานที่ดูแลด้านงบประมาณแผ่นดิน เช่น กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เสนอความเห็นทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลเห็นพ้องโดยเสนอให้ ทล.พิจารณาปรับขึ้นค่าผ่านทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราก.ม.ละ 1 บาท ทั้ง 2 สายทางที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันคือสาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี และสาย 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก
เนื่องจากต้องการให้เงินรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางของ ทล.มีสัดส่วนที่สอดคล้องเหมาะสมกับรายจ่ายหรือวงเงินลงทุนที่ใช้ในโครงการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางลดภาระงบประมาณการลงทุนด้านโครงสร้าง พื้นฐานให้กับรัฐบาลได้อีกด้วย เพราะหาก ทล.มีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็สามารถนำเงินมาใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ ในอนาคตได้เอง โดยไม่ต้องขอเงินงบประมาณจากส่วนกลาง
“ทล.เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จึงให้หน่วยที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อดีข้อเสียจากกรณีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เบื้องต้นจะต้องศึกษาถึงแนวโน้ม เช่น ปริมาณการใช้ทาง รายได้จากค่าผ่านทาง รายจ่ายในอนาคตที่เกี่ยวกับค่าซ่อมบำรุง รวมไปถึงการลงทุนในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลต่างๆไปวิเคราะห์ว่าควรจะปรับค่าผ่านทางในอัตราเท่าใดจึงจะเหมาะสม”
นายอานนท์กล่าวอีกว่า หลายๆ หน่วยงานเสนอให้ปรับจาก ก.ม.ละ 1 บาท ขึ้นเป็นก.ม.ละ 1.50 บาท ซึ่งเราก็เห็นด้วยว่าควรจะปรับขึ้น เพราะตั้งแต่สร้างมอเตอร์เวย์มา 15 ปีไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางเลย แต่จะปรับขึ้นในอัตราเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ ขอไปศึกษาความเหมาะสมก่อน เพราะการขึ้นค่าผ่านทางเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก รวมทั้งในอนาคตจะต้องนำไปใช้กับมอเตอร์เวย์อีกหลายๆ เส้นทางที่กำลังจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าผ่านทางยังเป็นการเพิ่มแรงจูงใจด้านผลตอบแทนให้แก่กลุ่มนักลงทุน ซึ่งในอนาคต ทล.จะระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ที่รัฐบาลเตรียมจัดตั้งขึ้นด้วย