รมว.สิ่งแวดล้อม บราซิล ยอมรับสถานการณ์ป่าอะเมซอนถูกถางรุนแรง สถิติพุ่ง 16% ในช่วง 1 ปี คาดอีก 35 ปี ต้นไม้จะสูญพันธุ์ 3,000 ชนิด เตรียมแก้ปัญหาเร่งด่วน
นางอิซาเบลลา เตเซรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศบราซิล เปิดเผยว่า เตรียมสอบสวนข้อเท็จจริงภายหลังพบว่าป่าอะเมซอน ซึ่งเป็นป่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังถูกทำลายจากการถางป่าเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลระหว่างเดือน ก.ค.2557-ส.ค.2558 มีการถางป่าเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 16% หรือประมาณ 5,830 ตารางกิโลเมตร
นางอิซาเบลลา กล่าวว่า จะขอให้รัฐต่างๆ ชี้แจงต่อรัฐบาลกลางอย่างเป็นทางการว่าการถางป่าแบบใดสามารถทำได้ และแบบใดที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากพบ 3 รัฐที่ถางป่ามากที่สุด คือรัฐอามาโซนัส รัฐรอนโดเนีย และรัฐมาตูโกรสซู ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดติดต่อกันทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยถูกถางเพิ่ม 54% 41% และ 40% ตามลำดับ
สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ที่ระบุว่า ขณะนี้มีต้นไม้ประมาณ 7,500 ชนิด หรือ 50% ของชนิดต้นไม้ทั้งหมดในป่าอะเมซอนซึ่งมีอยู่ราวๆ 15,000 ชนิด กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรง และหากไม่มีการแก้ไขคาดว่าภายในปี 2593 หรืออีก 35 ปีข้างหน้า จะมีต้นไม้ 40% ของ 7,500 ชนิด หรือประมาณ 3,000 ชนิด ถูกทำลายลง
นอกจากนี้ ป่าอะเมซอน ยังถูกขนามนามว่าเป็นปอดของโลก มีพื้นที่ทั้งหมด 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ประมาณ 60% อยู่ในประเทศบราซิล รองลงมาคือเปรู 13% และโคลอมเบีย 10% และมีปริมาณเล็กน้อยในเวเนซุเอลา เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา ซูรินาม และเฟรนช์เกียนา
ทั้งนี้ ป่าอะเมซอน ถือเป็นเนื้อที่กว่าครึ่งของป่าดิบชื้นที่ยังเหลืออยู่บนโลก และเป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนขนาดใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก