เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com
แม้จะผ่านมาเป็นสัปดาห์แล้ว แต่ความเศร้าโศกในหัวใจคนไทยก็แทบจะไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย หลายๆ คนยังคงคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ยิ่งเห็นคลิปและรูปแสดงพระราชกรณียกิจตามโซเชียลก็ยิ่งคิดถึง แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากคลิปที่เห็นบนโทรทัศน์กับบนโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้ว เราสามารถไปชื่นชมพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ก่อตั้งเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงภาพและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติตั้งแต่วันพระราชสมภพ พระราชกรณียกิจต่างๆ พระบรมฉายาลักษณ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงการจำลองวิถีชีวิตและร้านค้าต่างๆ ในสมัยก่อนไว้ด้วย
เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ที่ตั้ง : ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอ คลองหลวง ปทุมธานี 12120
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0 – 2902 – 7940-42 ต่อ 103 และ 113
หออัครศิลปิน
เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ขององค์อัครศิลปิน จัดแสดงงานด้านศิลปวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะ “อัครศิลปิน” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” และยังมีนิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์และศิลปะสถาปัตยกรรม สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง
เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30 น. – 16.00 น.
ที่ตั้ง : ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอ คลองหลวง ปทุมธานี 12120
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0 – 2986 – 5020-4
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ
เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงอัจฉริยภาพทางด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นสถาบันการเรียนรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรมการเกษตร มีทั้งสิ้น 10 โซน ภายใต้แนวคิด “10 โซนมหัศจรรย์การเรียนรู้วิถีเกษตรตามรอยพ่อ” มีการจัดแสดงการจำลองพระราชพิธีในวิถีเกษตร ห้องฉายภาพยนตร์เผยแพร่เรื่องราวของราษฎรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจนเปลี่ยนแปลงชีวิตขึ้นมาได้ จัดแสดงนิทรรศการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จพระเทพฯ แปลงเกษตรทดลอง รวมทั้งถ่ายทอดพระราชกรณียกิจที่สะท้อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ควรน้อมนำไปใช้เป็นแบบอย่างด้วย
เวลาทำการ : วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.30 น. – 15.30 น. ปิดบริการวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ที่ตั้ง : หมู่ 13 ถนนพหลโยธิน กม.ที่ 46-48 ตรงข้ามโรงพยาบาลนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0-2529-2212, 0-2529-2213
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ผ่านสื่อมัลติมีเดียสมัยใหม่ นอกจากจะเป็นวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมในสมัยก่อนแล้ว ยังถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – 9 ที่ทรงปกครองประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
เวลาทำการ : วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. – 19.00 น. ปิดบริการวันจันทร์
(แนะนำว่าให้รีบจองคิวเข้าชมตั้งแต่เช้า เพราะรอบจัดแสดงเต็มเร็วมาก)
ที่ตั้ง : 100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0-2621-0044
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ มีทั้งป่าสาธิต นาข้าวทดลอง การเพาะเลี้ยงปลานิล ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยกระแสลม ฯลฯ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตร นอกจากนี้ยังมีโรงโคนมที่ใช้ผลิตนมสวนจิตรลดาและนมอัดเม็ดที่เรารู้จักกันดีด้วย ปกติโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจะไม่เปิดสำหรับการท่องเที่ยว แต่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาดูงานต่างๆ โดยโทรฯ ติดต่อได้ที่ 0-2282-7171-4 หรือ 0-2282-1150-1
เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์
ที่ตั้ง: ถนนราชวิถี แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10303
การได้เข้าไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชคงพอจะช่วยให้เราระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ดียิ่งขึ้น โครงการในพระราชดำริมีมากมายเหลือคณานับ พิพิธภัณฑ์ก็อาจเก็บรวบรวมรายละเอียดได้ไม่หมด แม้วันนี้พระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่คุณความดีและสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนจะยังคงได้รับการจารึกและยกย่อง เป็นแบบอย่างให้ปวงชนชาวไทยได้เดินตามรอยสืบต่อไป