เรียบเรียงโดย Dodeden.com
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพกกล้องถ่ายภาพไปทุกที่ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปยังดินแดนใด ทรงศึกษาและทรงฝึกตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จากกล้องฟิล์มจนถึงกล้องรุ่นใหม่แบบอัตโนมัติ ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ในบันทึกของเอกสารทางวิชาการทรงมีกล้องส่วนพระองค์มากกว่า 20 กล้อง และทรงถ่ายภาพเพื่องานศิลป์และเพื่อเป็นข้อมูลการทรงงาน
นี่คือกล้องโคโรเน็ต มิดเจ็ต ผลิตในฝรั่งเศส ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และเป็นกล้องที่ทรงใช้ฝึกถ่ายภาพครั้งแรก แม้อุปกรณ์ยังไม่ทันสมัยเช่นปัจจุบัน แต่ก็ทรงศึกษาและฝึกใช้จนมีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง
หลังจากนั้นไม่นาน ทรงใช้กล้องอีกหนึ่งกล้อง ชื่อ Kodak Vest Pocket Montreux ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม ฝรั่งเรียกว่า Minibox ใช้ฟิล์มถ่ายได้ม้วนละ 6 ภาพ
ในปี พ.ศ.2481 พระองค์ทรงมีกล้อง Elax Lumie’re ซึ่งผลิตในฝรั่งเศส อีกหนึ่งกล้อง ทรงใช้จนเชี่ยวชาญกับกล้องนี้เป็นอย่างดีเพราะเหมาะกับพระหัตถ์มาก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Elax Lumie’re อีกกล้องหนึ่ง ซึ่งในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดลกลับเมืองไทย พระองค์ทรงใช้กล้อง Elax Lumie’re บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงสนพระทัยทางการถ่ายภาพเป็นอันมาก
เข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ผลิตกล้องยี่ห้อดีๆ ต่างก็ปรับปรุงคุณภาพเพื่อแข่งขันกัน Linhof เป็นอีกยี่ห้อที่มาจากเยอรมัน
พระองค์ทรงทดลองใช้ แต่ไม่เหมาะกับพระหัตถ์ของพระองค์ จึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้อีกต่อไป
Hasselblad เป็นกล้องที่ผลิตจากสวีเดน ที่ครองตลาดมาทุกยุคทุกสมัย เป็นกล้อง SLR(single lens Reflex) ใช้ฟิล์ม 3 นิ้ว หรือ เบอร์120 ที่มีจุดเด่นก็คือ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ มีแมกกาซีนใส่ฟิล์มได้หลายชนิดและหลายขนาด พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องยี่ห้อนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งเกิดแสงรั่วเข้าแมกกาซีน ช่างไทยสมัยนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องส่งกลับไปซ่อมที่บริษัทต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเลิกใช้
บริษัท Zeiss ikon ได้ออกกล้องเป็นของตัวเองบ้างชื่อว่า Ikoflex ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex)
Lens Zeiss Opton Tessar 1:3:5 F.75 mm. No.637288 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้องเมื่อปี พ.ศ.2494
เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงใช้กล้องนี้อยู่นาน ทรงมีพระราชดำรัสว่าใช้ง่าย เลนส์ดี ได้ภาพสวยคมชัดดีมาก
บริษัท Zeiss ikon ผู้ผลิตเลนส์มีชื่อเสียงมากของเยอรมนี และผลิตเลนส์ให้กับกล้องชั้นดีต่างๆ มากมาย ได้ออกกล้อง Contax-s เป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR(single lens Reflex) หลังจากนั้นปรับปรุงเป็น Contax II ในปี พ.ศ.2493
ทรงใช้กล้อง Contax II ใช้เลนส์ Zeiss-opton No.821255 กับ Zeiss-opton No.885584 Sonar 1:2 f.50 mm. เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เพราะเป็นกล้องที่นำสมัยในสมัยนั้น สามารเปลี่ยนเลนส์ได้ทั้งยังมีเครื่องวัดแสงในตัวด้วย เสด็จฯ ณ ที่ใดจะทรงใช้อยู่เป็นประจำ ปัจจุบันทรงพระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร.9
ในช่วงที่ Contax II กำลังเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพ บริษัท E.Leitz Wetzlar ของเยอรมนีอีกเช่นกัน ได้ออก Leica เป็นระบบ M แบบใหม่ และมีชื่อเสียงพอสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกล้องรุ่นนี้ เป็นกล้องมือสองและทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง
กล้อง Super ikonta ของบริษัท Zeiss ikon ใช้ฟิล์มเบอร์ 120 ได้ภาพ 6×9 ซม. 8 ภาพ หรือสามารถแบ่งเป็นภาพ 6×4.5 ซม. 16 ภาพ พระองค์ทรงใช้อยู่ระยะหนึ่งแต่มีข้อเสียคือฟิล์มหมดม้วนเร็วเกินไป จึงได้พระราชทานให้หัวหน้าช่างภาพประจำพระองค์ ในสมัยนั้น (นายอาณัติ บุนนาค) ใช้ในงานราชการต่อไป
ในขณะนั้นกล้องถ่ายภาพในเครือบริษัท Robot ได้ออกกล้อง Robot Royal No.G 125721 Mod 111 Lens : Schneider-Kreuznach Xenon 1.1.9/3542375 เป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มเบอร์ 135 ภาพที่ได้เป็นสีเหลี่ยมจตุรัส ลักษณะกล้องป้อมกะทัดรัด เหมาะพระหัตถ์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก
เมื่อครั้งประเทศไทยได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2496 ที่สวนลุมพินี สถานฑูตรัสเซียมาเปิดร้าน เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย กล้องยี่ห้อ Kiev ซึ่งเป็นกล้องที่คล้ายกับ Zeiss ikon ขนาด 6×9 ซม.ทรงรับไว้ และทดลองใช้จนเข้าพระทัยทุกขั้นตอน
ในระยะหลังๆ กล้องที่ผลิตจากญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงใช้กล้องญี่ปุ่นดูบ้าง อย่าง Canon-7 แบบเล็งระดับตา แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามพระราชประสงค์เท่าใดนักเพราะไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้
ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็นรุ่น Canon A-1 ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR (Single Lens Reflex) สามารถใช้งานได้สองระบบคือระบบ Manual และ Auto พระองค์ทรงมีกล้องรุ่นนี้อยู่สองกล้อง คือ กล้องแรก Canon A1/2097120 FD 1:1.4/50 mm. 2052111 เลนส์มาตรฐาน อีกกล้องหนึ่งคือ Canon A1/2307372 Lens RMC Tokina Zoom 35-105 mm. 1:3.5-4.3
ต่อมาทรงมีกล้องรุ่นใหม่ๆ แบบอัตโนมัติคือ กล้อง Canon 35 Autofocus Lens f=38 mm เป็นกล้องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พระองค์ทรงใช้อยู่พักหนึ่งทรงปรารภว่า ใช้ง่ายเกินไป และไม่ค่อยเหมาะกับพระหัตถ์มากนัก
กล้องญี่ปุ่นที่ตีคู่มาก็ คือ Nikon กล้องรุ่น F3 ของ Nikon ได้รับความนิยมมากเพราะรูปทรงแปลกใหม่ นำสมัยใช้วัสดุแกร่ง แข็งแรง พระบาทสมเด็จทรงใช้กล้องรุ่นนี้พร้อมเลนส์มาตรฐาน และเลนส์ซูมขนาด 35-105 mm. อยู่พักหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จฯ รอบโลกทรงใช้กล้อง Nikon รุ่น F3 นี้บันทึกภาพเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก แต่หากมีน้ำหนักมากไปนิด จึงพระราชทานให้เป็นสมบัติของช่างภาพส่วนพระองค์มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในช่วงที่กล้องถ่ายภาพประเภท ทำงานด้วยอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาท ทรงทดลองใช้กลุ่ม Canon EOS โดยเริ่มตั้งแต่ EOS 650 และต่อมาก็ทรงทดลองใช้รุ่น EOS 620 อีกรุ่นหนึ่ง
ขณะเดียวกันทางค่าย Nikon ก็ออกรุ่น F401s เป็นรุ่นที่มีแฟลชในตัวซึ่งมี Image Master Comtrol สามารถใช้เลนส์ปรับระยะชัดอัตโนมัติได้ ใช้เลนส์35-105 mm. f3.5-4.5
อีกยี่ห้อหนึ่งที่ออกมาสร้างความแปลกใหม่ ให้กับวงการถ่ายภาพ คือ Minolta Dynax 5000i สร้างความสะดวกสบาย และถ่ายภาพได้ผลเที่ยงตรง ออกแบบได้แปลกใหม่และเพิ่มการสร้างสรรค์ผลงานด้วยระบบการ์ด(Creative Expansion Card System) มีหลายแบบ อาทิ ถ่ายภาพกีฬา ถ่ายภาพบุคคล เป็นต้น
กล้องรุ่นใหม่สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว แบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้ เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของกล้องถ่ายภาพ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงทดลองใช้กล้องคอมแพ็คแบบต่างๆ หลายรุ่น อาทิเช่น Canon-HIS Lens Canon Zoom EF28-80mm. , Canon Autoboy Tele 6 Lens 35-60 mm. f/3.5-5.6. , Canon Zoom Xl Lens Zoom 39-85 mm f/3.6-7.3 , Ricoh FF-9D Lens 35 mm f/3.5 , Pantax AF Zoom 35-70 mm. กับ Minolta Weather Matic 35DL และ Nikon TW Zoom
ท่านทรงจับสลากได้รางวัลกล้อง RICOH EF-9D LENS 35 mm. f 1:35 จึงทรงพระราชทานเป็นของขวัญจับสลาก
กล้องรุ่นล่าสุดที่พระองค์ทรงใช้ถ่ายรูปประชาชน เมื่อเสด็จกลับจาก รพ.ศิริราช คือรุ่น Canon EOS 30D
จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กล้องถ่ายภาพอย่างมากมาย บางชนิดพระองค์จะทรงซื้อ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง และไม่ได้เจาะจงว่าใช้กล้องใหม่อยู่เสมอ พอมาระยะหลังหลายบริษัทนำกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพขึ้นทูลเกล้าถวาย เนื่องในวโรกาสต่างๆ พระองค์ทรงทดลองใช้แล้วบางกล้องจะทรงเก็บเอาไว้เป็นกล้องคู่พระหัตถ์ ส่วนกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างดีที่เหลือ ก็ได้โปรดพระราชทานได้บุคคล และหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ทางการถ่ายภาพต่อไป
ทรงถ่ายภาพบุคคลใกล้ชิด หรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ เช่น ภาพพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในรถยนต์พระที่นั่ง และอีกหลายภาพที่สำคัญสำหรับทั้งสองพระองค์
สามัคคี 4 พระหัตถ์ เป็นการวางพระหัตถ์ขวาเรียงลำดับกัน ทรงบันทึกและบรรยายภาพว่า เปรียบเสมือนความสามัคคีของพี่ๆ น้องๆ ภาพที่ทรงฉายไว้เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปประทับที่วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ แสดงถึงความรักความอบอุ่นและสายสัมพันธ์ในครอบครัว
ผอ.พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพจากจุฬาฯ ซึ่งเคยถวายงานด้านการถ่ายภาพ เล่าว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพ โดยทรงจัดทำห้องมืดที่ตึกสถานีวิทยุ อส. ทรงเน้นการถ่ายภาพให้เป็นธรรมชาติ และคิดค้นเทคนิคแปลกใหม่ เช่น นำแว่นมาทาสีเพื่อใช้เป็นฟิลเตอร์หน้าเลนส์ ให้ได้ภาพที่มีสีสด และทรงเรียนรู้กลไกการทำงานของกล้องแต่ละแบบได้เป็นอย่างดี เมื่อปี 2519 ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพจากสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายกล้องโพลารอยด์ ที่ยังไม่มีวางขายแต่ทันสมัยที่สุดยุคนั้น เป็นระบบโฟกัสอัตโนมัติ ก็ทรงเข้าพระทัยและถ่ายภาพได้ทันที
ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร นอกจากทรงพกแผนที่แล้ว ยังมีกล้องถ่ายภาพที่ทรงพกไปด้วยในพื้นที่ทรงงานที่ห่างไกล หรือเมื่อเสด็จฯ มาประทับที่โรงพยาบาลศิริราชขณะทรงพระประชวร ทรงโปรดการถ่ายภาพคนและสถานที่ เพราะกล้องของสื่อมวลชนมักจะถ่ายภาพเน้นที่พระองค์
เกี่ยวก้บกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ เคยมีผู้สนใจในวงการถ่ายภาพสงสัยกันอยู่ว่า ทำไมจึงไม่ทรงใช้กล้องถ่ายภาพชนิดเยี่ยมยอดที่มีราคาแพงที่นักถ่ายภาพบางคนเขาใช้กัน เพราะตามความเป็นจริง การที่จะทรงใช้กล้องดีมีคุณภาพสูงเพียงใดก็ย่อมได้
แต่กลับทรงใช้กล้องถ่ายภาพแบบธรรมดาที่ใครๆ หาซื้อขายได้ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งพระราชจริยวัตรนี้ มีผู้ใหญ่ในวงการถ่ายภาพอธิบายเป็นการเทิดพระเกียรติว่า
“ประเทศไทยเราผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ได้เลย เราต้องเสียดุลย์การค้าให้กับต่างประเทศเป็นอันมาก จึงควรสังวรณ์ ระวังการใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ดีแต่พอเหมาะพอควร ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจทางการถ่ายภาพต้องการผลิตงานคุณภาพดี ต้องใช้ของดีราคาแพงนี่เป็นเรื่องธรรมดา”
ดังนั้นผู้ที่ถ่ายภาพกันโดยทั่วไปเพียงแต่ใช้กล้องถ่ายภาพระดับมาตรฐานทำงานได้ อย่างถูกต้องก็เหมาะดีที่สุดแล้ว ความสำคัญเรื่องนี้พระองค์ท่านจึงทรงเป็นแบบอย่างที่วิเศษที่สุด สมควรที่วงการถ่ายภาพทั้งหลายจักได้บำเพ็ญตนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อเป็นศักดิ์สิริมงคลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีกล้องหลายรุ่นหลายแบบ ทั้งแบบใช้ฟิล์มในยุคเริ่มแรก กล้องที่ใช้ฟิล์มถ่ายได้เพียงม้วนละ 6 ภาพ กล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่ กล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสง เรื่อยมาจนถึงกล้องรุ่นใหม่แบบอัตโนมัติ ขนาดเล็กน้ำหนักเบา กล้องบางตัวทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บางตัวมีบริษัทนำกล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพทูลเกล้าฯ ถวาย และยังพระราชทานกล้องให้บุคคลและหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการถ่ายภาพอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะทรงเห็นว่าการถ่ายภาพเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าและยังช่วยพัฒนาประเทศ